B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
โรคผื่นลมพิษ
06 ธันวาคม 2023

โรคลมพิษ หรือ อาการผื่นลมพิษ ลักษณะเป็นผื่นบวมนูน แดง อาจคล้ายตุ่มยุง หรือ มดกัด สามารถเกิดที่บริเวณผิวหนังส่วนใดของร่างกายก็ได้ บางรายอาจมีอาการบวมบริเวณเนื้ออ่อน (ภาวะแองจิโออีดีมา) เช่น บริเวณหนังตา ริมฝีปาก เป็นต้น

โรค หรือ อาการผื่นลมพิษ

ลมพิษมักเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด อาการเด่นๆ คือ คัน และ ผื่นมักจะจางหายไปภายใน 24 ชั่วโมง โดยไม่เหลือร่องรอยภายหลังผื่นยุบ ผื่นมักจะเป็นๆ หายๆ และย้ายตำแหน่งไปเรื่อยๆ กรณีหากมีภาวะแองจิโออีดีมาร่วมด้วย รอยโรคมักบวมอยู่นานเกินกว่า 24 ชั่วโมง และ มีอาการเจ็บร่วมด้วย

ประเภทของผื่นลมพิษ แบ่งตามระยะเวลาที่เกิดได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. ลมพิษเฉียบพลัน (Acute Urticaria) โดยอาการผื่นลมพิษจะเกิดต่อเนื่องกันไม่เกิน 6 สัปดาห์
  2. ลมพิษเรื้อรัง (Chronic Urticaria) จะมีอาการผื่นลมพิษเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเกิดต่อเนื่องกันมากกว่า 6 สัปดาห์

ปัจจัย และ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ

  1. อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด
  2. ยา โดยร่างกายปฏิกิริยาการแพ้ยาบางชนิด
  3. การติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือ มีพยาธิ
  4. ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์
  5. อิทธิพลทางกายภาพ โดยผู้ป่วยบางรายอาจเกิดผื่นลมพิษจากปฏิกิริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น น้ำหนักกดรัด แสงแดด หรือ การออกกำลังกาย เป็นต้น
  6. แพ้สารที่สัมผัส ผื่นลมพิษเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังสัมผัสกับสารที่แพ้ เช่น การแพ้ยา, ขนสัตว์, พืช หรือ อาหารบางชนิด เป็นต้น
  7. ปฏิกิริยาแพ้พิษแมลง เช่น ปฏิกิริยาที่เกิดจากผึ้งหรือต่อต่อย
  8. มะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ ระบบอื่นๆ ของร่างกาย
  9. ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง ผู้ป่วยลมพิษบางรายเกิดจากการมีภูมิคุ้มกันไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเคมีบางชนิดออกมาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นลมพิษขึ้น
  10. ปัจจัยไม่ทราบสาเหตุ มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยลมพิษเรื้อรัง แม้ว่าแพทย์จะได้พยายามตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดแล้ว แต่ก็ยังหาสาเหตุไม่พบ

 

การรักษาโรคลมพิษ

  1. พยายามหาสาเหตุ และ รักษาหรือเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ
  2. ให้ยาต้านฮีสตามีน (ยาแก้แพ้)
  3. ยาอื่นๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมาก และ ผื่นไม่ค่อยตอบสนองต่อยาต้านฮีสตามีน แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอื่นที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง และ หลั่งสารสื่อกลางในผิวหนังที่เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดผื่นลมพิษ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยลมพิษยังควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ ซึ่งหากพบสาเหตุที่ก่อให้เกิดลมพิษ และ ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยง หรือ รักษาที่สาเหตุนั้นได้ ก็จะทำให้โรคลมพิษสงบลง หรือ หายขาดได้

 

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.