B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / การผ่าตัดกระดูกขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน เพื่อการบดเคี้ยวที่ดีขึ้น สร้างความมั่นใจและเสริมบุคลิกภาพ
การผ่าตัดกระดูกขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน เพื่อการบดเคี้ยวที่ดีขึ้น สร้างความมั่นใจและเสริมบุคลิกภาพ
31 มีนาคม 2021

การผ่าตัดขากรรไกร ร่วมกับการจัดฟัน ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

การผ่าตัดขากรรไกร หรือเรียกชื่อเต็มๆ อีกอย่างว่า “การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน” เป็นการแก้ไขความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรและการจัดเรียงตำแหน่งของกระดูกขากรรไกรและฟันให้อยู่ตำแหน่งใหม่ที่สมดุลในการสบฟัน มีประโยชน์ข้างเคียงคือสามารถเพิ่มความสวยงามของรูปหน้า  ใช้เพื่อการรักษาปัญหาการสบฟันผิดปกติที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยการจัดฟันเพียงอย่างเดียว โดยการรักษาปัญหาดังกล่าว  ทันตแพทย์จัดฟันจะต้องทำงานร่วมกับทันตแพทย์ผ่าตัดช่องปากและกระดูกขากรรไกร เพื่อร่วมกันวางแผนการรักษา

 

เมื่อผ่าตัดกระดูกขากรรไกร สามารถช่วยแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง

  • เพิ่มประสิทธิภาพการบดเคี้ยวอาหาร
  • สามารถแก้ไขการพูด หรือ การกลืนได้ในบางกรณี
  • ลดฟันสึกหรือฟันแตกอันเกิดจากการสบฟันที่ผิดปกติ
  • สามารถแก้ไขการสบฟันหรือตำแหน่งที่ฟันไม่สามารถสัมผัสกันได้เมื่อกัดฟันเต็มที่
  • แก้ไขรูปหน้าที่ผิดสัดส่วน ไม่สมมาตร เช่น คางสั้น คางยื่น ยิ้มเห็นเหงือกมาก หรือ ปากอูมผิดปกติ
  • แก้ปัญหาการปิดปากไม่สนิทในสภาวะผ่อนคลาย
  • ช่วยบรรเทาอาการหยุดหายใจในขณะนอนหลับ หรือภาวะนอนกรน

 

การผ่าตัดกระดูกขากรรไกร มีอันตรายหรือไม่

การผ่าตัดกระดูกขากรรไกรโดยทั่วไป เป็นหัตถการที่มีความปลอดภัยหากการผ่าตัดทำโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดช่องปากและขากรรไกร ที่ทำงานร่วมกับทันตแพทย์จัดฟัน ทั้งนี้ การผ่าตัดกระดูกขากรรไกรควรทำเมื่อผู้ป่วยหยุดการเจริญเติบโต หรือช่วงอายุประมาณ 18 ปี ในผู้หญิง และ 20 ปีในผู้ชาย

 

การผ่าตัดกระดูกขากรรไกร มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังการผ่าตัด เช่น สูญเสียเลือด แผลติดเชื้อ อาการชาบริเวณริมฝีปาก กระดูกขากรรไกรหักอย่างไม่พึงประสงค์ การกลับคืนตำแหน่งเดิมก่อนการผ่าตัด การสบฟันไม่สนิทหรือปวดข้อต่อขากรรไกร มีเหตุจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำ มีเหตุจำเป็นต้องรักษารากฟัน หรือสูญเสียฟัน หรือ เกิดการสูญเสียกระดูกขากรรไกรบางส่วน  และ อาจจะมีผลข้างเคียงที่พบได้ในระยะพักฟื้นหลังการผ่าตัด เช่น ปวด บวม รับประทานอาหารลำบากจนอาจต้องรับประทานอาหารเสริม  จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อปรับสภาพจิตใจให้รับกับรูปหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

 

การผ่าตัดกระดูกขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน ทันตแพทย์ ทำอย่างไร

โดยทั่วไป ทันตแพทย์จัดฟันจะทำการติดเครื่องมือจัดฟันก่อนการผ่าตัดประมาน ครึ่งปีถึง 2 ปี เพื่อจัดเรียงและปรับระดับฟันก่อนการผ่าตัด ซึ่งทันตแพทย์จัดฟันจะทำการวางแผนรักษาร่วมกับทันแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดช่องปากและกระดูกขากรรไกร โดยจำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายรังสี รูปถ่าย และแบบจำลองการสบฟัน เพื่อนำมาวางแผนการรักษาร่วมกัน ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องมีการกรอฟัน แต่งฟันก่อน เพื่อแก้การสบฟันร่วมด้วย

 

สิ่งที่ควรรู้ การเตรียมตัว ก่อนการผ่าตัดขากรรไกร

  • การผ่าตัดขากรรไกรทำการผ่าตัดโดยทันตแพทย์ผ่าตัดช่องปากและกระดูกขากรรไกร โดยผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบทั่วร่าง ผ่าตัดภายในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมและพักฟื้นในโรงพยาบาล 2-4 วัน
  • การผ่าตัดจะกระทำผ่านทางช่องปาก ดังนั้น จึงไม่มีแผลบริเวณใบหน้า คาง หรือรอบริมฝีปาก
  • ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดช่องปากและขากรรไกร จะทำการตัดและเลื่อนกระดูกขากรรไกรไปยังตำแหน่งที่วางแผนไว้ เมื่อทำการเลื่อนได้ตำแหน่งที่ต้องการ จะทำการยึดกระดูกด้วยโลหะยึดกระดูกและสกรูขนาดเล็ก โดยโลหะยึดกระดูกจะมีขนาดเล็กและสามารถเชื่อมสมานกับเนื้อกระดูกได้เมื่อเวลาผ่านไป
  • ในบางกรณีเมื่อพิจารณาด้านความสวยงามแล้วทันตแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด จะทำการผ่าตัดมุมกรามหรือคางไปพร้อมกัน โดยแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนการผ่าตัดและปรึกษาร่วมกัน เพื่อให้ได้รูปหน้าที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

 

การผ่าตัดกระดููกขากรรไกรล่าง

  • แก้ไขภาวะยื่นของกระดูกขากรรไกรล่าง
  • แก้ไขภาวะถอยของกระดูกขากรรไกรล่าง
  • แก้ไขภาวะเบี้ยวไม่สมมาตรของกระดูกขากรรไกรล่าง

ทันตแพทย์ผ่าตัด จะทำการตัดกระดูกด้านหลังฟันกรามตลอดแนวทั้งสองข้าง จึงจะสามารถเลื่อนฟันและกระดูกขากรรไกรล่างด้านหน้าได้ โดยกระดูกขากรรไกรสามารถเลื่อนไปสู่ตำแหน่งใหม่ทั้งด้านหน้าและหลัง เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้วทำการยึดกระดูกด้วยโลหะยึดกระดูก

 

การผ่าตัดคาง

การผ่าตัดคางสามารถแก้ไขความผิดปกติของภาวะคางเล็ก คางยื่น หรือคางไม่สมมาตรร่วมกับการที่มีความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรล่างยื่นหรือถอย สามารถทำได้พร้อมกับการผ่าตัดกระดูกขากรรไกรล่าง โดยผ่าตัดกระดูกคางและเลื่อนไปยังตำแหน่งที่วางแผนไว้แล้วยึดด้วยโลหะยึดกระดูก

 

การดูแลตนเองหลังการผ่าตัด และ ข้อควรปฏิบัติ

  • รับประทานอาหารอ่อนตามช่วงเวลาที่ทันตแพทย์ผู้ผ่าตัดแนะนำ
  • ดูแลความสะอาดช่องปากและแผลด้วยแปรงสีฟันขนาดเล็ก
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหมในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • รับประทานยาระงับปวดและยาปฏิชีวนะตามที่ทันตแพทย์ผู้ผ่าตัดสั่งให้
  • ผู้ป่วยสามารถกลับไปเรียนหรือทำงานได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์

 

นานแค่ไหน แผลจึงจะหาย หรือ เข้ารูป

  • การหายของแผลและการฟื้นตัวของกระดูกขากรรไกรใช้เวลาประมาน 6 สัปดาห์หลังผ่าตัดและจะหายอย่างสมบูรณ์อาจใช้เวลาถึง 3 เดือน 
  • หลังจากผ่าตัดขากรรไกรประมาน 4-6 สัปดาห์ผู้ป่วยจะได้เริ่มการจัดฟันต่อโดยทันตแพทย์จัดฟัน โดยกระบวนการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดใช้เวลารักษาต่อเนื่องยาวนานเกิน 1- 2 ปี หลังจากนั้นจำเป็นต้องมาพบทันตแพทย์ผ่าตัดและจัดฟันต่อเนื่อง เพื่อการติดตามผลการรักษาในระยะยาวต่อไป

 

หลังการรักษาจะเป็นอย่างไร

การผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน เป็นการแก้ไขการเรียงตัวของฟันและเปลี่ยนตำแหน่งของกระดูกขากรรไกร ซึ่งจะส่งผลดีหลายประการ เช่น

  • สร้างสมดุล สมส่วน ของรูปหน้าส่วนล่าง
  • เพิ่มประสิทธิภาพและความสวยงามของฟัน
  • ประโยชน์จากการนอน หายใจ เคี้ยว และกลืน
  • แก้ไขภาวะการพูดไม่ชัด
  • เสริมสร้างความมั่นใจและบุคลิกภาพให้ดีขึ้น
บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.