B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / ปวดหลัง...สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม
ปวดหลัง...สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม
20 กรกฎาคม 2023

อาการปวดหลัง สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ เพศชายหรือเพศหญิง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังนั้นมีด้วยกันหลายอย่าง เช่น ปัญหากล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง ข้อต่อกระดูกสันหลังอักเสบ หมอนรองกระดูกสันหลังอักเสบ หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เมื่ออาการลุกลามก็จะแสดงอาการปวดหลังออกมาและส่งผลให้มีอาการปวดหลังที่แตกต่างกันออกไป

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิด “อาการปวดหลัง” มีอะไรบ้าง?

  • ที่นอนที่แข็งหรือนิ่มเกินไป ไม่ถูกต้องตามสรีระ
  • การยกของหนัก ถือของหนัก ก้มยกของผิดวิธี
  • การสูบบุหรี่
  • ภาวะกระดูกพรุนหรือบางเปราะ
  • น้ำหนักตัวที่มากเกินไปส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังและก้นกบต้องรับภาระแบกน้ำหนักมากขึ้นกว่าคนน้ำหนักตัวปกติ
  • ออฟฟิศซินโดรม นั่งทำงานนานๆ หรืออยู่ในท่าทางการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ

 

อาการปวดหลัง สัญญาณนี้บอกถึงอะไรได้บ้าง?

  • ปวดหลังจากการยกของหนัก : กล้ามเนื้ออักเสบ กระดูกหรือหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน
  • ปวดแนวกระดูกกลางหลัง : มีปัญหาที่หมอนรองกระดูกสันหลัง หรือข้อต่อกระดูกสันหลัง
  • ปวดหลังเยื้องออกมาด้านข้าง : กล้ามเนื้อหลังมีความผิดปกติ
  • ปวดร่วมกับมีอาการชา-อ่อนแรง : ระบบประสาทหรือเส้นประสาทผิดปกติ
  • ปวดร้าวเหมือนไฟฟ้าช็อต : เส้นประสาทอาจถูกกดเบียด
  • ปวดหลังแบบล้าๆ เมื่อยๆ : อาจเกิดจากกล้ามเนื้อ

 

ปวดหลังระดับไหน?...ควรรีบไปพบแพทย์

แน่นอนว่าโรคเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง แต่ใช่ว่าทุกคนจะมีอาการปวดในระดับเดียวกัน จึงไม่ควรชะล่าใจ ปล่อยให้ความเจ็บปวดอยู่กับเรานาน จำเป็นต้องสังเกตตัวเราเองว่ามีความเจ็บอยู่ในระดับใด โดยระดับความเจ็บปวดจากอาการปวดหลังนั้น เริ่มตั้งแต่ไม่รุนแรง เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไปถึงขั้นรุนแรงจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อาการปวดร้าวลงขา ปวดคล้ายเข็มทิ่ม หรือปวดแบบเสียวแปลบ ที่สำคัญ คือ หากมีอาการปวดนานเรื้อรัง มีอ่อนแรงหรือชา มีไข้ ปวดกลางคืนนอนพักไม่หาย มีปัญหาขับถ่ายผิดปกติร่วม ควรรีบปรึกษาแพทย์ อาจมีการสั่งตรวจเพิ่มเพื่อหาสาเหตุและอาการของโรคอย่างแน่ชัด เช่น การตรวจเอกซเรย์ (X-ray) การสร้างภาพกระดูกสันหลังด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-SCAN) เป็นต้น

 

ปวดหลัง...หายได้ หากรักษาตรงจุด

หลังจากที่เราทราบแล้วว่าเรามีอาการอย่างไร ก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการการรักษาที่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการรักษาเบื้องต้นสำหรับอาการปวดที่ไม่รุนแรง อาจแค่รับประทานยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อ หรือการทำกายภาพบำบัด แต่ถ้าอาการปวดเพิ่มมากขึ้นจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ลุก นั่ง ยืน เดินลำบาก อาจต้องรักษาโดยการฉีดยาเข้าเส้นประสาทสันหลัง หรือการผ่าตัดแบบแผลเล็ก หลังจากการผ่าตัดต้องพักฟื้นอย่างน้อย 1-3 วัน ซึ่งควรได้รับคำแนะนำจากทีมแพทย์ที่ชำนาญโดยเฉพาะ อีกทั้งเราทุกคนสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหลังได้ด้วยการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อหลัง เช่น ยกของหนัก แบกของหนัก และควรหมั่นออกกำลังกายเพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกับรูปร่างของเรา เพราะแม้ว่าปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปไกลแล้วก็ตาม แต่ถ้าเราดูแลตัวเองได้ดี รักษาร่างกายให้พร้อมใช้ชีวิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แบบนั้นก็ย่อมดีกว่าแน่นอน

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.