B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / รู้ทัน ป้องกันภัยจากโรคข้อเข่าเสื่อมในวัยสูงอายุ
รู้ทัน ป้องกันภัยจากโรคข้อเข่าเสื่อมในวัยสูงอายุ
04 ธันวาคม 2020

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบมากในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม อาจทำให้มีความเจ็บปวด ข้อเข่าผิดรูป เดินได้ไม่ปกติ และมีความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ หากผู้ที่เริ่มมีอาการ ข้อเข่าเสื่อมสามารถดูแลตนเองเพื่อชะลอความเสื่อม หรือบรรเทาอาการของข้อเข่าเสื่อมก็จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม มีความสำคัญที่ส่งผลต่อความเสื่อมของข้อเข่า มีดังนี้

  • อายุ พบว่า อายุ 40 ปีเริ่มมีข้อเสื่อม อายุ 60 ปี เป็นข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
  • เพศ ผู้หญิงพบมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการท้างานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย
  • น้ำหนักตัวที่เกิน มีความสัมพันธ์อย่างมากทำให้เข่าเสื่อม น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัม จะเพิ่มแรงที่กระต่อข้อเข่า 1-1.5 กิโลกรัม จะส่งผลให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
  • การใช้งาน ท่าทาง กิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การนั่งคุกเข่า ขัดสมาธิ การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เป็นต้น
  • ความบกพร่องของส่วนประกอบของข้อ เช่น ข้อเข่าหลวมกล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง
  • กรรมพันธุ์ โรคข้อเข่าเสื่อมมีหลักฐานการถ่ายทอดทางพันธุกรรมน้อยกว่าที่ข้อนิ้วมือเสื่อม

 

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

 เริ่มจากปวดเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อได้พักการใช้เข่า อาการปวดก็จะทุเลา และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อนั้นมาก ในรายที่เป็นมากอาการปวดจะเป็นตลอดเวลาข้อเข่าฝืด ใช้งานไม่ถนัด บางรายมีข้อติด และข้อผิดรูป เข่าบวมโต บางรายมีขาโก่งออกร่วมด้วยมีปัญหาในการใช้งานข้อเข่า เช่น ขึ้นลงบันได รวมทั้งการเดิน

 

แนวทางการดูแลรักษา เพื่อลดอาการปวดด้วยวิธีต่าง ๆ มีดังนี้

  1. ลดอาการปวดและเกร็งของกล้ามเนื้อรอบเข่า โดยใช้ความร้อนประคบ
  2. บริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่า
  3. ใช้สนับเข่าในรายที่เข่าเสียความมั่นคง สนับเข่าจะช่วยให้ข้อเข่ากระชับ ลดอาการปวด แต่ถ้าใช้เป็นเวลานานจะพบว่ากล้ามเนื้อรอบเข่าลีบจากการไม่ได้ใช้งาน จึงควรมีการบริหารข้อเข่าร่วมด้วยเสมอ
  4. หลีกเลี่ยงอริยาบทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม จะเป็นตัวเร่งส่งเสริมให้เกิดความเสื่อมในข้อเข่าเร็วขึ้น
  5. ใช้ไม้เท้าจะช่วยแบ่งเบาแรงที่กระทำต่อข้อเข่าได้บ้าง และช่วยเพิ่มความมั่นคงในการยืนเดินบางรายอาจใช้ร่มแทน ให้ใช้จุกยางอุดปลายร่มเพื่อกันลื่น
  6. ลดน้ำหนัก เนื่องจากเวลายืนหรือเดิน เข่าต้องรับน้ำหนัก 3-4 เท่าของน้ำหนักตัว ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก เข่าจะยิ่งต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ ดังนั้นการลดน้ำหนักจะช่วยลดแรงกระทำต่อข้อเข่าได้มาก

 

ดังนั้นการดูแลรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม เช่น การนั่งคุกเข่า การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ เป็นต้น ประกอบกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ที่มีประโยชน์ ดูแลน้ำหนักให้เหมาะสม เพียงเท่านี้ท่านจะสามารถห่างไกลจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้

 

ที่มา :  คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.