ออฟฟิศซินโดรม รักษาได้ผลดีตั้งแต่ครั้งแรก ด้วยเทคนิค PMS
24 สิงหาคม 2023
Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) คือ วิธีการกระตุ้นประสาทส่วนปลายด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นเทคนิคการบำบัดรักษาอาการปวด ชา และอาการปวดทางระบบประสาท
เครื่องจะส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความแรงสูง ลงลึกไปจนถึงกระดูกหรือกล้ามเนื้อชั้นลึก ด้วยการส่งคลื่นไปกระตุ้นเนื้อเยื่อ และการไหลเวียนของเลือดในตำแหน่งนั้น ๆ โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะโดยรอบ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายในขณะรักษา นอกจากนี้เครื่อง PMS ยังช่วยฟื้นฟูความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาท ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของระบบประสาท (Neuroplasticity) ที่ผิดปกติให้กลับมาเป็นปกติได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บปวดเรื้อรังของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
PMS ถูกใช้ในการบำบัดรักษากลุ่มโรคและอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ใช้รักษาออฟฟิศซินโดรม และอาการปวดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเฉียบพลัน หรืออาการปวดเรื้อรังที่มาจากการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ เป็นประจำ ก็สามารถรักษาได้โดยใช้เครื่อง PMS โดยเห็นผลทันทีตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มเข้าไปรักษา
- กลุ่มอาการชา ไม่ว่าจะเป็นมือชา ขาชา เท้าชา ซึ่งเป็นผลมาจากเส้นประสาทถูกกดทับ ความผิดปกติของปลายประสาท หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
- อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬา หากเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก เช่น อาการเคล็ดขัดยอกต่าง ๆ สามารถใช้เครื่อง PMS เพื่อกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อและซ่อมแซมระบบประสาทส่วนที่มีการเสียหายให้กลับมาเป็นปกติได้เร็วยิ่งขึ้น
- กลุ่มโรคกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง คลื่นแม่เหล็กสามารถใช้ในการกระตุ้นลงลึกได้ถึงรากประสาทโดยตรง อีกทั้งยังช่วยเร่งการฟื้นตัวของเส้นประสาทที่บาดเจ็บการกดทับรากประสาทที่คอและเอวจากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนหรือเสื่อมได้อีกด้วย
- กลุ่มอัมพฤกษ์ อัมพาต จากหลอดเลือดสมอง สามารถใช้เครื่อง PMS บำบัดรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ได้ เพราะการยิงคลื่นแม่เหล็กกระตุ้น จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและชะลอการฝ่อของกล้ามเนื้อ และยังช่วยลดอาการเกร็งของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
ทำไมถึงควรใช้เทคโนโลยี PMS ในการรักษาออฟฟิศซินโดรม
การรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยเทคโนโลยี PMS มีประสิทธิภาพในการรักษาดีเยี่ยม โดยสามารถสรุปข้อดีของเทคโนโลยีดังกล่าวได้ ดังนี้
- ได้ผลทันทีหลังจากการรักษาครั้งแรก หากเป็นการรักษาต่อเนื่อง จะได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก ๆ
- จำกัดวงในการรักษาได้ดี ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ
- ใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างสั้น ประมาณครั้งละ 5-30 นาที หรือราว ๆ 2-5 นาทีต่อ 1 จุดการรักษา
ขั้นตอนการรักษาออฟฟิศซินโดรม โดยใช้เทคนิค PMS
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้ออกแบบโปรแกรมการรักษาขึ้นอยู่อาการหรือบริเวณที่ผู้ป่วยรู้สึกปวด โดยปกติแล้ว การรักษาออฟฟิศซินโดรมโดยใช้เครื่อง PMS นั้น จะใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ไม่เกิน 30 นาที
- แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการของแต่ละคน ต้องทำการยิงคลื่นกระตุ้นที่กล้ามเนื้อมัดไหนอย่างไรบ้างตามความเหมาะสม แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะให้กระตุ้นไปยังกล้ามเนื้อมัดที่มีปัญหาโดยตรงก่อน แล้วค่อยกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดอื่น ๆ บริเวณใกล้เคียงกัน
- ผู้ป่วยเพียงแค่นอนลง แพทย์หรือนักกายภาพจะใช้ส่วนหัวคอยล์ของเครื่องทาบลงบนกล้ามเนื้อส่วนที่ต้องการรักษา แล้วค่อย ๆ เลื่อนไปมา (จุดหนึ่งใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที) ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ จะรู้สึกเพียงว่ามีอะไรมา กระทบเป็นจังหวะ “ตึก ๆ ๆ” ในตำแหน่งที่มีการยิงคลื่นเท่านั้น
ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงของการใช้เครื่อง PMS
- การรักษาออฟฟิศซินโดรม ด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นนั้น มีโอกาสทำให้กล้ามเนื้อระบมหรือเป็นตะคริวได้ หลังจากเข้ารับการรักษาประมาณ 2-3 วัน แต่หลังจากนั้นจะกลับมาเป็นปกติ
- ความร้อนจากการเหนี่ยวนำด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เทคนิคการยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดความร้อนสะสมที่วัสดุโลหะต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ ได้ จึงมีข้อแนะนำว่า ให้ถอดอุปกรณ์หรือโลหะต่าง ๆ ออกให้หมดก่อนเข้ารักษาออฟฟิศซินโดรม ไม่ว่าจะเป็น หัวเข็มขัด กระดุมบนกางเกง เป็นต้น
ใครที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาออฟฟิศซินโดรมด้วยเทคนิค PMS ได้
- ผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือโลหะต่าง ๆ ติดตั้งอยู่ในตัว เช่น ผู้ป่วยที่มีการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วยที่มีคลิปหนีบเส้นเลือดโป่งพองในสมอง เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีโลหะติดตัว ในบริเวณที่จะทำการรักษา
- ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติลมชัก
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดระบมมาก ๆ ในวันที่เข้ารับการรักษา แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยวิธีอื่นแทน เนื่องจากการใช้คลื่นแม่เหล็กกระตุ้น อาจยิ่งไปเพิ่มความระบมแก่ผู้ป่วยได้
โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ พร้อมให้บริการบำบัดรักษาออฟฟิศซินโดรม และกลุ่มโรคอาการต่างๆ ด้วยเครื่อง PMS และเครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยลดอาการปวด และบรรเทารักษาอาการต่างๆ ควบคู่กันไปให้สอดคล้องกับสภาพและอาการของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม รวมถึงยังมีการรักษาและการกายภาพอื่นๆ เช่น การยืดกล้ามเนื้อที่จำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสม และการกายภาพบำบัดด้วยท่าที่นักการภาพแนะนำ เป็นต้น เพื่อประสิทธิภาพรักษาที่ดีที่สุด