B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / รู้จักกับต้อกระจก
รู้จักกับต้อกระจก
24 เมษายน 2024

รู้จักกับต้อกระจก

ต้อกระจกเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเลนส์เสื่อมสภาพจนมีความขุ่นมัวเกิดขึ้น ทำให้แสงไม่สามารถส่งผ่านไปยังจอประสาทตาได้ไม่เต็มที่ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการสายตาพร่ามัว เหมือนมองผ่านกระจกฝ้า ภาวะต้อกระจกเป็นภาวะซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามวัยจึงพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

 

สาเหตุของโรค

ต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่นและแข็งขึ้น มักพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักคือ เป็นความเสื่อมตามวัย เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความขุ่นของเลนส์จะเพิ่มขึ้น สาเหตุรองลงมา คือ การได้รับแสง UV จากแสงแดดจัดเข้าตาเป็นเวลานานๆ  อุบัติเหตุที่ดวงตา เช่น โดนกระแทก, ถูกของมีคม, โรคตาหรือโรคทางกาย เช่น การอักเสบในลูกตา, เบาหวาน การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานานๆ

 

อาการต้อกระจก

  • ตามัวเหมือนมีหมอกหรือฝ้าบัง
  • เมื่อต้อกระจกสุก อาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวตรงรูม่านตา ซึ่งปกติเห็นเป็นสีดำ หากละเลยทิ้งไว้จนต้อกระจกสุกเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น โรคต้อหิน การอักเสบภายในตา ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง และอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้
  • ภาพซ้อน สายตาพร่า เกิดจากความขุ่นของเลนส์ไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว ในผู้ป่วยบางรายจะมีสายตาสั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย ๆ บางรายสายตาสั้นขึ้นจนกลับมาอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น
  • การมองเห็นในตอนกลางคืนแย่ลง ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการอ่านหนังสือ หรือ การทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องเพ่งสายตา
  • สู้แสงสว่างไม่ได้ มองเห็นแสงไฟกระจาย โดยเฉพาะขณะขับรถในตอนกลางคืน
  • มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ต้องการแสงสว่างมากขึ้นในการมอง สายตาไวต่อแสงจ้า

 

การรักษาต้อกระจก

การใช้ยาหยอดตาอาจช่วยชะลอต้อกระจกในรายที่เป็นน้อยๆ แต่เมื่อแก้วตาขุ่นมากขึ้น การมองเห็นจะลดลงจนถึงขั้นเห็นแต่แสงลางๆ ได้ ซึ่งต้องรักษาด้วยการผ่าตัดต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมเพื่อปรับสายตาให้เป็นปกติ

 

การผ่าตัดต้อกระจก

  1. วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องอัลตราซาวด์สลายต้อ (Phacoemulsification With Intraocular Lens) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน แผลที่กระจกตาเล็กเพียง 2.75 มม. ใช้พลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกจนหมดจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แผลมีขนาดเล็กมาก ไม่ต้องเย็บแผลในคนไข้ส่วนใหญ่
  2. วิธีผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens) เป็นวิธีผ่าตัดดั้งเดิมที่ใช้ในกรณีที่ต้อกระจกสุกและแข็งมาก ๆ จนไม่เหมาะกับการสลายด้วยเครื่อง จักษุแพทย์จะเปิดแผลบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม.เพื่อเอาตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แล้วจึงเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผล

 

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

ในการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจกนั้น จักษุแพทย์จะตรวจความดันตาและจอประสาทตาอย่างละเอียด พร้อมกับตรวจหาโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคในระหว่างการผ่าตัด หรือหลังการผ่าตัด และเพื่อให้การผ่าตัดนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งก่อนการผ่าตัดนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการต้อกระจกควรเตรียมตัว ดังนี้

  • สำหรับการผ่าตัดต้อกระจกในผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยมีโรคประจำตัวนั้น หากมียาที่ทานเป็นประจำ ผู้ป่วยทานยาได้เป็นปกติจนถึงวันผ่าตัด ยกเว้นว่ายาที่ทานคือยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยที่รับประทานยาชนิดนี้ ควรงด 7 วันก่อนการผ่าตัด
  • งดรับประทานอาหารก่อนเข้ารับการผ่าตัด 12 ชั่วโมง ในกรณีที่มีการให้ยาสลบก่อนการผ่าตัด
  • งดแต่งหน้า พร้อมกับทำความสะอาดดวงตา และรอบดวงตาให้เรียบร้อย แต่สามารถล้างหน้าก่อนนอน และเช้าวันผ่าตัดได้
  • ดูแลความสะอาดร่างกายให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด เช่น สระผม ตัดเล็บ โกนหนวด แปรงฟัน ทำความสะอาดปาก หรือการอาบน้ำ เป็นต้น

 

การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดต้อกระจก

หลาย ๆ คนอาจมีข้อสงสัยว่าหลังจากผ่าตัดต้อกระจกต้องพักฟื้นกี่วัน หรือหลังผ่าตัดแล้ว สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้หรือไม่ ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจกนั้นใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่อาจจะต้องระมัดระวังพฤติกรรมของผู้ป่วยเอง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยวิธีการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดต้อกระจกแบบง่าย ๆ มีดังนี้

  • หยอดตาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการเช็ดทำความสะอาดตา และหยอดตา
  • เช็ดทำความสะอาดรอบดวงตา และใบหน้าให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่แผลผ่าตัด
  • ผู้ป่วยห้ามขยี้ตา เพราะอาจทำให้แผลเกิดการฉีกขาด หรือเลือดออกได้
  • ระวังไม่ให้น้ำเข้าตาในขณะที่อาบน้ำ หรือสระผม
  • หลีกเลี่ยงการไอ หรือจามแรง ๆ และไม่ก้มศีรษะต่ำกว่าระดับเอว

 

วิธีป้องกันโรคต้อกระจก

อย่างที่ทราบกันว่าโรคต้อกระจกยังไม่มียารักษา ทางรักษาเดียวคือการผ่าตัดเท่านั้น หากไม่อยากผ่าตัด ก็ควรป้องกันไม่ให้เกิดต้อกระจกด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

  • ระวังไม่ใช้สายตามากเกินไป ถนอมสายตาด้วยการพักสายตาบ้างหลังใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ไม่มองแสงจ้าเป็นเวลานาน หากต้องอยู่ในที่แสงจ้า ควรใส่แว่นกันแดดหรือหมวกปีกกว้าง ถ้าทำงานที่ต้องจ้องแสง ควรมีเครื่องมือป้องกันดวงตาจากแสงด้วย
  • ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง ระวังการใช้ยาโดยเฉพาะกลุ่มสเตียรอยด์ ไม่ใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น แต่ก็ต้องปรึกษาแพทย์ด้วย เพราะยาบางตัวจำเป็นต้องใช้ในระยะยาว
  • ไม่ทำให้ตนเองเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุที่จะกระทบกับดวงตา
  • หมั่นตรวจสายตา หรือตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.