B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
12 มกราคม 2021

สมองเสื่อมเป็นภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำไม่ได้ เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุทำให้ผู้ที่เป็นมีอาการหลงลืม การใช้ภาษาผิดปกติ และพฤติกรรม รวมถึงอารมณ์เปลี่ยนไป เกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคพาร์กินสัน, ขาดฮอร์โมนธัยรอยด์, เนื้องอกสมอง, โพรงน้ำในสมองขยายตัว, โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิสและเอดส์ เป็นต้น โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉลี่ยผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะอยู่ได้นาน 8-10 ปี

 

ปัจจัยเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แต่อาจมีการถ่ายทอดในครอบครัวทางกรรมพันธุ์ได้ในผู้ป่วยส่วนน้อย ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ อายุที่มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนี้คนเราอายุยืนขึ้น โรคนี้จึงพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ

 

อาการโรคอัลไซเมอร์

อาการเริ่มแรกมักเป็นการลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ ไม่นาน ในขณะที่ความจำเรื่องเก่าๆ ในอดีตจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยอาจถามซ้ำเรื่องที่เพิ่งบอกไปหรือพูดซ้ำเรื่องที่เพิ่งเล่าให้ฟัง นอกจากนั้นยังอาจมีอาการอื่นๆ เช่น วางของแล้วลืม ทำอะไรที่เคยทำประจำไม่ได้ สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่ นึกคำพูดไม่ค่อยออกหรือใช้คำผิดๆ แทน มีอารมณ์พฤติกรรมและบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  การตัดสินใจแย่ลง  ไม่สามารถมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ อาการเหล่านี้จะค่อยเริ่มเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานและกิจวัตรประจำวัน ซึ่งการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้เร็วหรือช้าก็ขึ้นกับระดับความสามารถเดิม การศึกษาและหน้าที่เดิมของผู้ป่วย รวมถึงความช่างสังเกตและเอาใจใส่ของญาติด้วย

 

แนวทางการป้องกันโรคอัลไซเมอร์

ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคนี้ อย่างไรก็ตามแนวทางการปฏิบัติตัวอาจช่วยให้สมองมีความจำที่ดีได้ ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัด การรับประทานยาโดยไม่จำเป็น 
  2. การฝึกฝนสมอง ได้แก่ การพยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อยๆ เช่น อาจหนังสือ เขียนหนังสือบ่อยๆคิดเลข ดูเกมตอบปัญหา ฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ เป็นต้น 
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง เช่น เดินเล่น รำมวยจีน เป็นต้น
  4. การพูดคุย พบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด  ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
  5. ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิมก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ เช่น การตรวจหา ดูแล และรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
  6. ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น 
  7. พยายามมีสติในสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำและฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา
  8. พยายามไม่คิดมาก ไม่เครียด หากิจกรรมต่างๆ ทำเพื่อคลายเครียด เนื่องจากความเครียด และอาการซึมเศร้าอาจทำให้จำอะไรได้ไม่ดี

 

หากเป็นอัลไซเมอร์แล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

สำหรับผู้ที่ทราบแล้วว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีภาวะสมองเสื่อม ย่อมเกิดความวิตกกังวลขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรดูแลรักษาสุขภาพ เพราะอาการของสมองเสื่อมจะค่อยๆ ทรุดลง จึงควรดูแลตนเองให้ดียิ่งขึ้น ไม่ควรที่จะหยุดทำในสิ่งที่ตนเองชอบหรือมีความสุขในชีวิต และพยายามพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุดอย่างที่เคยทำมา และทำในสิ่งที่ตนเองรักต่อไปอย่างเป็นปกติ โดยอยู่ในความดูแลของสมาชิกในครอบครัว คอยปรึกษาหารือกันและสนับสนุนช่วยเหลือกัน

 

ที่มา : คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.