B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
เด็กพูดช้า
15 ตุลาคม 2020

 

การพูดเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ภาษา และการสื่อความหมายบ่งบอกถึงระดับสติปัญญาในเด็ก เด็กที่สามารถสื่อความหมายกับผู้อื่นทราบได้ บอกความต้องการหรือความรู้สึกให้ผู้อื่นทราบได้ ก็จะเป็นเด็กที่มีอารมณ์แจ่มใสและมีพัฒนาการทางด้านสังคมก้าวหน้าได้ดี

ควรสงสัยว่าเด็กพูดช้าหรือมีปัญหาทางการพูดเมื่อใด

การที่จะบอกว่าเด็กพูดช้าหรือจะมีปัญหาทางด้านการพูดหรือไม่นั้น ไม่ควรจะเสียเวลาเกิน 2 ปี แล้วจึงนําเด็กออกไปตรวจ เพราะถ้าสังเกตให้ดี เด็กอาจมีพฤติกรรมที่แสดงว่าอาจมีปัญหาในด้านการพูดตั้งแต่ขวบปีแรกแล้ว 

 

ข้อบ่งชี้ง่าย ๆ ว่าเด็กจาจมีปัญหาในการพูด คือ

  • อายุ 6 เดือน ไม่ส่งเสียงอือ อา ไม่หันหาเสียง 
  • อายุ 10 เดือน เรียกชื่อไม่หันหา 
  • อายุ 15 เดือน ไม่เข้าใจคำสั่งห้าม ไม่เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ เช่น มานี่ นั่งลง บ้ายบาย 
  • อายุ 18 เดือน พูดคำเดี่ยวได้น้อยกว่า 5-6 คำ
  • อายุ 2 ปี พูดคําเดี่ยว ๆ ที่มีความหมาย 2 คําติดต่อกันไม่ได้ เช่น ไปเที่ยว ไม่เอา ขอขนม หรือส่วนของร่างกายง่าย ๆ ไม่ได้ 
  • อายุ 3 ปี พูดเป็นประโยคง่าย ๆ ไม่ได้ พูดแล้วคนไม่คุ้นเคย ไม่เข้าใจ 
  • อายุ 4 ปี ยังพูดติดอ่าง 
  • อายุ 7 ปี ยังพูดไม่ชัด

 

สาเหตุของเด็กพูดช้า

  1. ปัญหาที่เกี่ยวกับการได้ยิน เช่น เป็นหูน้ำหนวกเรื้อรั้ง หูหนวกแต่กําเนิด มีความพิการผิดปกติของหูและใบหน้า ซึ่งมักพบร่วมกับความบกพร่องของการได้ยิน 
  2. ความพิการของสมองและระบบประสาทจากสาเหตุต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนคลอด ขณะคลอด และหลังคลอด เช่น การใช้ยาที่มีอันตรายต่อหู การติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ภาวะสมองขาดออกซิเจน ตัวเหลืองมากจนเป็นอันตรายต่อสมอง และปัญญาอ่อนจากสาเหตุต่างๆ เป็นต้น 
  3. ความผิดปกติของอวัยวะที่ใช้ในการเปล่งเสียงพูด เช่น เพดานโหว่ สายเสียงมีพยาธิ สภาพกล้ามเนื้อกระบังลม และกล้ามเนื้อทรวงอกเกร็งมากเกินไป หรือไม่ตึงตัว เป็นต้น
  4. สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมและไม่เอื้ออํานวยต่อการพัฒนาทางการพูดและการใช้ภาษาในเด็ก เช่น พูดกับเด็กเร็วเกินไป ใช้ประโยคยากเกินไป หรือใช้คําศัพท์ยากเกินไป ความเข้าใจของเด็ก ครอบครัวไม่ช่างพูด ไม่ให้โอกาสเด็กพูดเพราะพ่อแม่เดาและทําทุกอย่างให้หมด พูดภาษาในบ้าน (มากกว่า 2 ภาษา) ขาดการกระตุ้นจากการอยู่โรงพยาบาลนาน ๆ หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะอย่าง 2-3 ปีแรกของชีวิต ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กกำลังพูด ต้องการการกระตุ้นที่เป็นการสื่อสาร 2 ทาง 
  5. ปัญหาด้านจิตเวช เช่น เด็กเป็นออทิสติก (Autistic) พ่อแม่เป็นโรคจิต โรคประสาท ซึมเศร้า ทําให้ขาดปฏิสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับเด็ก เป็นต้น 

 

เด็กที่ควรตรวจการคัดกรองการได้ยิน

ในเด็กทารกบางคน จะมีปัจจัยเสี่ยงต่อความผิดปกติของการได้ยิน ดังนั้น ควรตรวจการคัดกรองได้ยิน (Hearing Screening Test) ในเด็กทารกที่มีประวัติต่อไปนี้ คือ 

  1. มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 1,500 กรัม 
  2. มีการติดเชื้อแต่กําเนิด (Congenital infection-TORCHS) 
  3. ตัวเหลืองมากจนต้องถ่ายเลือด 
  4. มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Bacterial Meningitis) 
  5. ขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง (Severe Asphyxia)
  6. มีคนในครอบครัวหูหนวก หูตึง หรือเป็นใบ้ 
  7. มีความพิการแต่กําเนิดของช่องหู ใบหน้า และลำคอ
  8. พ่อแม่สงสัยว่าลูกไม่ได้ยิน 
  9. ใช้ยามีอันตรายต่อหู (Ototoxic Drugs)

 

การดูแลรักษาเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดและการใช้ภาษาจําเป็นที่จะต้องรีบกระทํา เพราะหากทิ้งไว้นาน นอกจากจะแก้ไขยากแล้ว เด็กมักมีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจตามมา เนื่องจากไม่สามารถติดต่อสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ มักจะหงุดหงิด ก้าวร้าว ฉุนเฉียว เกเร ไม่มีเพื่อน และมีปัญหาในการเข้าสังคมและการเรียนต่อไป

ฉะนั้น ควรให้พ่อแม่และผู้เลี้ยงดู ให้ความสนใจ เอาใจใส่พูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ ตั้งแต่เด็กยังเล็ก ให้เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็ก เมื่อเด็กเริ่มเปล่งเสียง ให้เปล่งเสียงเลียนเสียงโต้ตอบกับเด็ก เลือกใช้คําสั้นๆ ง่ายๆ พูดคุยกับเด็กบ่อยๆ หากสงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินแต่เนิ่นๆ

 

การส่งเสริมการพูดของเด็ก

ถ้าการได้ยินปกติและสาเหตุของการพูดช้า เป็นจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออํานวย การส่งเสริมในการพูดของเด็กแนะนําโดย 

  • พยายามกระตุ้นและจูงใจให้เด็กพูด แต่อย่าเครียด คาดคั้น หรือลงโทษ เพราะจะทําให้เด็กไม่พูดมากขึ้น
  • ขณะพูดกับเด็ก ให้หันหน้าเข้าหาเด็ก เพื่อให้เด็กจะได้หันสบตา มองปาก แล้วพูดตาม
  • เลือกคําสั้นๆ ง่ายๆ ก่อน พูดช้าๆ และชัดๆ บ่อยๆ อาจเริ่มจากสิ่งที่เด็กกำลังสนใจอยู่ เช่น หนังสือภาพสวยๆ ในระยะแรกๆ ให้อ่านให้เด็กฟัง ให้เด็กชี้ภาพให้ตรงกับคำ เช่น หมาอยู่ไหน แล้วให้เด็กชี้ตอบ ในระยะหลังให้อ่านที่ภาพแล้วถามเด็กว่านี่ตัวอะไร ร้องเสียงอย่างไร พยายามกระตุ้นให้เด็กตอบ ถ้าเด็กพยายามจะพูด แม้ในระยะแรกจะไม่ชัด ควรให้คําชมเชย และพูดคำที่ถูกต้องให้เด็กฟัง
  • เมื่อเด็กพูดคําสั้น ๆ ให้เสริมคำยาวขึ้น เช่น เด็กพูดคําว่า “หมา” ให้พ่อแม่เสริมต่อว่า “หมาวิ่ง” “หมาเห่า” เป็นต้น

เด็กที่ส่งเสริมการพูดเองที่บ้านแล้วไม่มีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้น เด็กที่มีปัญหาการได้ยิน มีปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ เด็กออทิสติก (Autistic) ควรให้แพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางดูแลรักษาและส่งให้นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย (แก้ไขการพูด) ต่อไป 

 

การพูดเป็นสิ่งสําคัญในการใช้ภาษาติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น หากเด็กพูดช้าหรือมีปัญหาในการพูดและไม่ได้รับการดูแลแก้ไขที่ถูกต้องเสียแต่เนิ่นๆ จะทําให้เกิดปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจตามมา จึงควรที่จะแนะนําให้ผู้ดูแลเด็ก ส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการทางการพูดและการใช้ภาษาเสียตั้งแต่เด็กยังเล็ก และหากสงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาทางการพูด ควรส่งเด็กมาให้ได้รับการตรวจและแก้ไขโดยเร็วที่สุด และควรให้มีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องกับแพทย์เฉพาะทาง

 

อ้างอิงจาก : เด็กพูดช้า, รศ.พญ.จันทร์ฑิตา พฤกษานานนท์. หน่วยพัฒนาการและการเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวซ์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

สอบถามรายละเอียดหรือนัดหมายแพทย์เพื่อเข้ารับคำแนะนำและปรึกษา

ศูนย์พัฒนาการและการเรียนรู้สําหรับเด็ก โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์

อาคารสมสราญ ชั้น 1   เปิดให้บริการทุกวัน  เวลา 08.00 - 17.00 น.

โทร 02 532 4444 ต่อ 1135, 1143

โทรศัพท์มือถือ CDLC โทร.098 259 7582

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.