อาหารที่เหมาะสมตามวัย ตั้งแต่วัยแรกเกิด - 5 ปี
18 พฤศจิกายน 2020
อาหารมีความสําคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาการของสมอง ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาตลอดจนวัยเด็ก หากภาวะโภชนาการบกพร่อง จะนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทําให้เจ็บป่วยบ่อย จะมีผลกระทบต่อสติปัญญา และความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก
อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามวัย จะส่งเสริมทําให้เด็กมีการเจริญเติบโตตามวัยได้ ปัญหาที่พบการให้อาหารตามวัยที่ไม่เหมาะสมเกิดจาก เริ่มให้เร็วเกินไป ส่วนประกอบที่ไม่เหมาะสม สารอาหารที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น หลักการให้อาหารตามวัยอย่างเหมาะสม ต้องสมวัย มีปริมาณที่เพียงพอ และมีความปลอดภัย รวมถึงต้องเหมาะสมกับความหิวอิ่มและพัฒนาการตามวัยของทารก
สมวัย
ควรเริ่มให้อาหารเมื่อทารกมีวัยที่เหมาะสม คือ เมื่อนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารก และทารกมีความพร้อมที่จะรับอาหารอื่นนอกจากนมแม่ได้ คือเมื่อระบบทางเดินอาหาร ไต ระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้พัฒนาการจนสามารถทำหน้าที่พร้อมแล้ว การให้อาหารเสริมตามวัยสําหรับทารกจะช่วยให้ทารกปรับตัวเข้ากับการรับประทานอาหารแข็งถึงเหลว คุ้นเคยกับรสชาติและลักษณะอาหารที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาไปสู่การรับประทานอาหารแบบผู้ใหญ่
ความหยาบละเอียดของเนื้ออาหารเสริม
- ทารกอายุ 6 เดือน ควรมีเนื้อค่อนข้างละเอียด โดยใช้วิธีการบด เพื่อให้กลืนได้ง่าย ไม่ควรให้อาหารปั่น เพราะทารกจะไม่ได้ฝึกทักษะการเคี้ยวและการกลืน เมื่อทารกสามารถเคี้ยวและกลืนอาหารได้ดี จึงค่อยเพิ่มความหยาบของอาหาร
- ทารกอายุ 8-9 เดือน จะสามารถใช้นิ้วมือหยิบของชิ้นเล็กได้ ควรให้ทารกถืออาหารที่ไม่แข็งมากกินเอง เช่น ฟักทองนึ่ง มันตัมที่หันเป็นชิ้นยาว เป็นต้น แต่ไม่ควรให้อาหารที่มีลักษณะแข็ง เป็นเม็ดเล็ก เช่น ถั่วลิสง เมล็ดข้าวโพด เพราะจะทําให้สําลัก เข้าปอดได้
เพียงพอ
สารอาหารที่ทารกต้องการควรมีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของเด็ก ซึ่งได้จากการกินอาหารที่หลากหลาย ได้แก่ ข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว น้ำมัน ผัก และผลไม้เป็นประจําทุกวันในปริมาณเพียงพอกับความต้องการของเด็ก
สําหรับเด็กแรกเกิด - 6 เดือน ให้นมแม่ล้วนๆ อย่างเดียว หลังจากนั้นให้นมแม่ร่วมกับอาหารตามวัย
อาหารที่มีประโยชน์ในการพัฒนาการเจริญเติบโตของสมองของเด็ก
- ตับ ไข่แดง เลือด จะช่วยเพิ่มความจำและสมาธิ เพราะมีธาตุเหล็กสูง
- ปลา เนื้อสัตว์ นม มีแร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง แมกนีเซียม สังกะสี ฟอสฟอรัส ซึ่งมีผลต่อการทํางานของสมอง ช่วยพัฒนาการความจําและเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่าเดนไดรต์ (dendrite) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเชื่อมโยงสัมพันธ์เรื่องราวที่เด็กได้เรียนรู้จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง คือ จะสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ง่ายและรวดเร็ว
- ผัก ผลไม้ ผักสีเขียว และเหลืองแดง ให้วิตามินซี เพื่อนําไปสร้างเยื่อบุต่างๆ ทั่วร่างกาย รวมทั้งยังให้วิตามินเอ ทําให้เซลล์ประสาททํางานเต็มที่ ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพัฒนาการของสมอง
นอกจากนี้ในอาหารจําพวกผักและผลไม้ ยังมีวิตามินและเกลือแร่จําพวกต่างๆ ที่จะช่วยในการทํางานของเซลล์สมองในการเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็นพลังงาน ถ้าขาดจะทําให้เซลล์สมองมีการทํางานลดลง ทําให้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก
- อาหารทะเลและเกลือเสริมไอโอดีน แร่ธาตุไอโอดีนมีความสําคัญต่อระดับ IQ คือป้องกัน IQ ต่ำ และโรคเอ๋ออีกด้วย
- ผักตระกูลกะหล่ำ (ทําให้สุก) และน้ำนมแม่ สามารถยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่จะทําลายเซลล์สมองได้
ข้อแนะนําเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนเพียงพอ
- ให้เด็กได้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและหลากหลาย เพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอกับความต้องการของเด็ก ได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์ ปลา ตับ ไข่ ผักและผลไม้เป็นประจําทุกวัน ให้ไขมันเพียงพอ
- กินผักและผลไม้ทุกวัน เพราะเป็นแหล่งของแร่ธาตุ วิตามินและใยอาหาร และกินให้หลากหลายชนิดโดยเฉพาะผักใบเขียวและผักสีส้ม เช่น ตําลึง ผักบุ้ง ผักกาดขาว ฟักทอง แครอท เป็นต้น ผลไม้ที่ไม่หวานจัด เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ส้ม เป็นต้น
- กินเนื้อสัตว์ทุกวัน เช่น หมู ไก่ ปลาและตับ เพราะเป็นอาหารที่ให้โปรตีนและธาตุเหล็กสูง
- สําหรับเด็กอายุ 1-2 ปี ควรเสริมนมรสจืด วันละ 2 แก้ว
- ใช้น้ำมันพืชในการประกอบอาหาร เพื่อเป็นแหล่งพลังงานและกรดไขมันจําเป็น โอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 เช่น น้ำมันรําข้าว น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น
- ให้กินอาหารรสธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่งรสอาหารด้วยน้ำตาล น้ำผึ้ง ผงชูรสและผงปรุงรส ไม่ควรให้อาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด เนื่องจากอาหารที่มีรสหวานและมันเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ฟันผุ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน และน้ำผลไม้ที่เติมน้ำตาล เป็นต้น
- เลือกอาหารว่างที่มีคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยอาหารหลายหมู่ หรือผลไม้ตามฤดูกาล หลีกเลี่ยงขนมที่มีรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด และขนมที่เหนียวติดฟัน
ปลอดภัย
การให้อาหารตามวัยสําหรับทารกที่สะอาดและปลอดภัยโดยเตรียมและเก็บอาหารอย่างถูกหลักอนามัย อุปกรณ์ที่ใช้ต้องสะอาด ล้างมือก่อนเตรียมและป้อนอาหาร เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วง ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด เพื่อไม่ให้มีสิ่งสกปรกและสารเคมีตกค้าง ไม่ควรให้น้ำส้มคั้นแก่ทารกเพราะถ้าเตรียมไม่สะอาดอาจจะเกิดโรคอุจจาระร่วงได้ ทารกวัย 6 เดือนแรกจะได้รับวิตามิน ที่เพียงพอจากนมมารดาอยู่แล้ว
ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่เพื่อช่วยให้เด็กเล็กรับประทานอาหารได้ง่าย
- ให้เด็กได้รับประทานอาหารครบทั้ง 3 มื้อ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ถ้าหิวมากอาจให้ผลไม้ก่อน แล้วจึงให้อาหารมื้อหลัก
- จัดอาหารให้น่ารับประทาน ตกแต่งจานให้สวยงาม มีสีสันเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก ขนาดชิ้นอาหารควรพอดีคํา นุ่ม เคี้ยวง่าย ควรตักอาหารและแบ่งอาหารให้พอดีกับที่เด็กจะรับประทานหมด และเป็นกําลังใจให้คําชมเชยทุกครั้งที่เด็กรับประทานอาหารหมด พ่อแม่ควรจัดวางผักและผลไม้บนโต๊ะอาหารทุกครั้ง
- พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างในการรับประทานอาหารที่ดีให้แก่ลูก ไม่เลือกอาหารและสนุกกับการรับประทานอาหาร
- สร้างบรรยากาศที่ดีในการรับประทานอาหารมื้อหลัก อาจมีนิทานประกอบการรับประทานอาหาร สร้างความเพลิดเพลิน และ จูงใจให้ลูกรับประทานอาหารได้มากขึ้น
วิธีการให้อาหารตามวัยที่เหมาะสม
- ป้อนอาหารด้วยความนุ่มนวลไม่ยัดเยียดหรือรุนแรง
- คอยกระตุ้นให้กินอาหาร ไม่บังคับ ไม่ควรนานเกิน 30 นาที
- ถ้าปฏิเสธการให้อาหารบางอย่างให้เปลี่ยนวิธีปรุงอาหาร
- ลดสิ่งล่อใจขณะรับประทานอาหาร เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นของเล่น เป็นต้น
- ควรฝึกให้นั่งกินที่โต๊ะอาหาร
- ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีขณะป้อน เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ การให้ความรัก เชื่อมความสัมพันธ์
- ให้อาหารเหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย เช่น ความหยาบ ละเอียด เหลว ข้นฯ
- ฝึกนิสัยการกิน เหมาะสมตามวัย
- กินอาหารเป็นมื้อๆ เป็นเวลา เป็นที่เป็นทาง
- ไม่ควรกินไป เล่นไป หรือดูโทรทัศน์
- ไม่ตามป้อน
- ฝึกให้ใช้ช้อนกินอาหารเอง
- ฝึกให้เลิกดื่มนมจากขวดเมื่อเด็กอายุครบ 1 ปี หรือ อย่างช้าไม่เกิน 2 ปี
อาหารธรรมชาติมีประโยชน์มากที่สุด ถ้ารู้จักเลือกสรร และยอมเสียเวลาปรุงสดใหม่ แต่ถ้าพ่อแม่ต้องการให้เด็กรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ควรเติมรสหวานลงไป โดยเฉพาะขนมหวาน เครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กติดรสหวาน จะส่งผลให้เกิดปัญหาฟันผุ และได้รับน้ำตาลเกิน เสี่ยงต่อโรคอ้วน และไม่แข็งแรง
ดังนั้น การฝึกสุขนิสัยในการรับประทานอาหารควรเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน โดยพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างและเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ให้แก่ลูก ซึ่งการรับประทานอาหารอย่างถูกที่ ถูกสุขลักษณะ ถูกเวลา และมีมารยาทในการรับประทานอาหาร ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตเท่านั้น แต่ยังช่วยในการพัฒนาสมองให้ลูกเติบโตเป็นเด็กฉลาดอีกด้วย ดังคำกล่าวว่า “เด็กฉลาด ชาติเจริญ"
ข้อมูลอ้างอิงจาก - คู่มืออาหารตามวัยสําหรับทารกและเด็กเล็ก. สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.) พศ.2552 / วารสารสมาคมนักกําหนดอาหารแห่งประเทศไทย ประจําปี 2557 ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik