B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / EF คืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับลูก
EF คืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับลูก
28 มิถุนายน 2021

EF หรือ Executive Function คือ ทักษะกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์และวางแผนขั้นสูง เพื่อแก้ไขปัญหาหรือผ่านอุปสรรคต่างๆ โดยอาศัยประสบการณ์ที่สะสมมา

องค์ประกอบของ EF มีอะไรบ้าง ?

  1. การควบคุมตนเอง เด็กต้องมีสมาธิจดจ่อได้นานเพียงพอที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย รวมถึงการยับยั้งชั่งใจตนเอง หักห้ามใจหรือรอคอยได้
  2. ทักษะความจำที่เพียงพอและพร้อมใช้งาน เด็กมีความจำที่แม่นยำและสามารถดึงข้อมูลหรือทักษะที่สะสมมาใช้ได้
  3. การยืดหยุ่นทางความคิด เมื่อมีอุปสรรคแก้ไขปัญหาไม่ได้ เด็กก็สามารถคิดวิธีการทดแทน ประยุกต์หรือเปลี่ยนวิธีการใหม่ได้ โดยไม่ยึดติดกับวิธีการเดิมๆ

 

ผลของการมี EF ที่ดีเป็นอย่างไร ?

          เด็กที่มี EF ดี จะสามารถพัฒนาศักยภาพทางกระบวนการคิดของสมอง รวมไปถึงสภาพจิตใจได้ดี สามารถแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคใหม่ได้ด้วยตนเอง และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างรวดเร็ว สังเกตจากการเล่นในชีวิตประจำวัน เช่น เด็กสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเป็นระบบ เมื่อมีการแข่งขันสามารถยอมรับผลแพ้หรือชนะได้ เป็นต้น

เมื่อไหร่ที่ควรเริ่มฝึก EF ?

          EF ควรเริ่มฝึกได้ตั้งแต่ช่วงก่อนวัยเรียน (3-7 ขวบ) ซึ่งหากเด็กเข้าสู่วัยเรียนแล้ว สมองจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนมากขึ้น สมองจึงเริ่มสร้างกลไกการกำจัดข้อมูลบางอย่างที่ไม่จำเป็นหรือไม่ได้ใช้ทิ้งไป และกลไกดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่ออายุ 15 ปี

          เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว หากเด็กไม่ได้รับการฝึกอย่างสม่ำเสมอ เด็กอาจมีปัญหาการควบคุมตัวเองในด้านอารมณ์ หงุดหงิดง่าย หุนหันพลันแล่น แก้ปัญหาไม่ได้ เมื่อเล่นกับเพื่อนมักยอมรับผลแพ้ชนะไม่ได้ ยึดติดกับข้อผิดพลาดเดิมๆ รวมถึงความจำที่ไม่ดี ส่งผลให้การเรียนรู้ลำบาก

EF ฝึกได้อย่างไร ?

  • ในช่วงอายุ 1-12 เดือนแรก เป็นช่วงของการเลี้ยงดู ผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่อย่างดีที่สุด เพื่อให้เด็กไว้ใจ
  • ช่วง 2-3 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กจะสายสัมพันธ์ เช่น กิจกรรมเล่านิทาน และควรเตรียมความพร้อมการฝึกให้เด็ก โดยการเริ่มฝึกการควบคุมตัวเอง เช่น การรอคอย การแสดงออกทางอารมณ์ต่างๆ
  • ช่วงปลายปีที่ 3 เป็นช่วงที่ลูกสร้างเอกลักษณ์หรือตัวตน จะเป็นช่วงที่เด็กเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น หากเด็กควบคุมตัวเองได้ ยับยั้งชั่งใจได้ก็จะมีอัตลักษณ์ของตนเองที่ดี
  • ช่วงระหว่าง 3-5 ขวบ สร้างเสริมความมั่นใจในตนเองหรือเซลฟ์เอสตีม ให้เด็กได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง หากเด็กแก้ปัญหาได้จะภาคภูมิใจในตนเองและเก็บเป็นทักษะขึ้นมาได้ แต่ในทางกลับกันหากเด็กทำไม่ได้หรือทำผิด ควรที่ชี้แนะเสนอความคิดเห็นแทนการดุว่าหรือซ้ำเติม เพราะจะทำให้เด็กไม่กล้าและขาดความมั่นใจในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
  • ในระหว่าง 3-7 ขวบ เริ่มฝึก EF ได้แก่ การควบคุมตัวเอง บริหารความจำที่ใช้งาน คิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น

 

โดยปัจจุบันมีการส่งเสริม EF ได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นผ่านจากการเล่นบอร์ดเกมต่างๆ
ที่ฝึกการคุมตัวเอง แต่ความจริงแล้ว กิจกรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวันของเด็กเองก็สามารถ
นำมาฝึก EF ได้ เพียงนำหลักองค์ประกอบของ EF ทั้ง 3 อย่าง ดังที่กล่าวมาข้างต้น มาประยุกต์ในกิจกรรมนั้น ยกตัวอย่างเช่น

    • กิจกรรมอ่านนิทาน ช่วยในการฝึกควบคุมตัวเอง สามารถใช้ฝึกได้ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก แต่หากเด็กโตขึ้นอาจะเริ่มให้เด็กผลัดกันอ่านกับผู้ปกครอง หรือเริ่มแต่งเรื่องราวเป็นนิทาน โดยสามารถวาดรูปประกอบด้วยตนเอง เพื่อฝึกการวางแผนและการคิดที่ซับซ้อนขึ้น
    • การเล่นด้วยกัน ว่าด้วยการเล่นสำหรับเด็กถือว่าเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นของเล่น หรือการเล่นบทบาทสมมติ โดยนำวัสดุอุปกรณ์ของใช้ภายในบ้านมาประยุกต์ จะช่วยฝึกให้เด็กได้มีกระบวนการคิดวางแผนด้วยตนเอง ฝึกความยืดหยุ่นทางความคิดและแก้ไขปัญหา หากได้เล่นร่วมกับผู้อื่นก็จะสามารถฝึกการควบคุมอารมณ์และการยับยั้งชั่งใจองตนเอง หากเด็กโตขึ้นอาจจะเป็นการเล่นบอร์ดเกมต่างๆ ที่ส่งเสริมกระบวนการคิดกาวางแผนอย่างรอบคอบและอยู่ในกติกา
    • การทำงานบ้านหรือการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันนั้นก็สามารถฝึก EF ได้เช่นกัน ซึ่งเป็นกิจกรรมในประจำวันที่จำเป็นต่อเด็ก เพื่อฝึกการควบคุมและยับยั้งชั่งใจตนเอง รวมถึงการวางแผน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  

  อย่างไรก็ตามกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเด็กสามารถนำมาพัฒนาฝึกฝน EF ของเด็กได้หลากหลาย เพียงแค่นำองค์ประกอบของ EF ทั้ง 3 มาประยุกต์ร่วมกัน EF นั้นเปรียบเสมือนทักษะหนึ่งที่ไม่สามารถหาซื้อหรือรับประทานเป็นอาหารเสริมได้ แต่เป็นเพียงการหมั่นฝึกฝนสะสมประสบการณ์ของชีวิตด้วยตนเอง

  • ช่วง 7 ขวบ – 20 ปี

เป็นช่วงที่เด็กจะพัฒนาตนเอง ก้าวสู่การศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ และสามารถนำ EF มาใช้พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

 

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.