วิธีอ่านฉลากสินค้า เลือกซื้อของอย่างไรให้สุขภาพไม่พัง ?
09 มิถุนายน 2023
ฉลากสินค้าประเภทอาหาร นอกจากจะต้องระบุชื่อของสินค้า ราคา และรายละเอียดต่างๆ แล้ว ยังต้องมีการระบุข้อมูลทางโภชนาการด้วย หากเรารู้วิธีอ่านฉลากสินค้าอาหารที่ถูกต้อง ก็ย่อมนำมาซึ่งการดูแลสุขภาพให้ดีได้อีกทางหนึ่ง ข้อมูลทางโภชนาการทั่วไปจะประกอบไปด้วย
- ข้อมูลสารอาหารต่างๆ ของสินค้าอาหาร อ้างอิงตามปริมาณพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งคนทั่วไปควรได้รับประมาณไม่เกิน 2,000 แคลอรี โดยเฉลี่ย แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ละคนก็มีความต้องการพลังงานที่ไม่เท่ากัน ด้วยปัจจัยทางเพศ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง อัตราการเผาผลาญ และกิจวัตรประจำวันที่แตกต่างกัน เป็นต้น
- รายชื่อส่วนประกอบ / ส่วนผสมต่างๆ ที่มีอยู่ในสินค้าชนิดนั้นๆ พร้อมระบุอัตราส่วนคร่าวๆ เอาไว้ด้วย ผู้ที่ต้องการลดไขมัน คาร์โบไฮเดรต และอื่นๆ สามารถตรวจสอบจากรายละเอียดนี้ได้ โดยรายการส่วนประกอบของสินค้าจะถูกเรียงลำดับจากส่วนประกอบที่มีปริมาณมากไปหาน้อย
วิธีอ่านฉลากสินค้า อาจจำแนกตามการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคแต่ละคน ได้ดังนี้
- การควบคุมน้ำหนัก แนะนำให้ตรวจสอบที่ฉลากโภชนาการ โดยเลือกสินค้าที่ให้พลังงานต่ำเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นๆ ในประเภทเดียวกัน หรือนำมาพิจารณาปริมาณที่ควรบริโภคในแต่ละวันด้วย
- การเลี่ยงไขมันหรือผู้ที่ต้องการควบคุมไขมัน แนะนำให้เน้นวิธีอ่านฉลากสินค้าในส่วนที่แสดงคุณค่าทางโภชนาการ โดยปริมาณไขมันไม่ควรเกิน 20 กรัมต่อมื้อ และต้องอ่านในส่วนของปริมาณไขมันอิ่มตัวด้วย คือไม่ควรเกิน 5% ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เพราะไขมันอิ่มตัวคือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ปริมาณวิตามินและเกลือแร่ ควรดูปริมาณที่มีอยู่เปรียบเทียบกับปริมาณที่ควรได้รับต่อวันในหนึ่งหน่วยบริโภคหรือหนึ่งบรรจุภัณฑ์สินค้า แนะนำให้เลือกซื้ออาหารที่หลากหลาย มีวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วนเพื่อสุขภาพที่ดี
- การควบคุมระดับน้ำตาล เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งควรบริโภคคาร์โบไฮเดรตไม่เกิน 70 กรัมต่อมื้อ รวมทั้งปริมาณน้ำตาลที่ได้รับไม่ควรเกิน 24 กรัมต่อวันด้วย
- การควบคุมโซเดียม เพื่อป้องกันปัญหาความดันโลหิต ให้อ่านฉลากสินค้าที่ระบุปริมาณโซเดียมในสินค้านั้นๆ และไม่ควรบริโภคเกิน 100 มิลลิกรัม หรือ 5% ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค หากพบว่าสินค้าใดมีปริมาณโซเดียมสูง แนะนำให้ลดปริมาณการกินลง
- กากใยในอาหาร มักพบรายละเอียดในอาหารที่ให้กากใยสูง โดยในฉลากโภชนาการจะระบุเป็นปริมาณของใยอาหารหรือไฟเบอร์ แนะนำให้เลือกอาหารที่มีปริมาณใยอาหารมากกว่า 20% ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวันในหนึ่งหน่วยบริโภค หรือในหนึ่งวันควรได้รับใยอาหารอย่างน้อย 25 กรัม
สินค้าเมื่อเรารู้วิธีอ่านฉลากและอ่านได้อย่างถูกต้อง จะช่วยให้เราเลือกสินค้าเหมาะสมกับสุขภาพของเราได้ โดยต้องดูวันผลิตหรือวันหมดอายุด้วย เราควรอ่านฉลากสินค้าให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว การอ่านฉลากสินค้าอย่างถี่ถ้วนจะช่วยควบคุมปริมาณสารอาหารให้เหมาะสมกับปัญญาสุขภาพที่มีอยู่ เป็นเหมือนการช่วยให้การรักษาได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย อีกทั้งไม่เพียงดูฉลากสินค้าบริโภคเท่านั้น สินค้าอุปโภคก็ควรดูฉลากเช่นกันเพราะไม่ให้เกินอาการแพ้ภายนอกได้