ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับ COVID 19
14 กรกฎาคม 2020
ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในช่วง COVID-19 ปลอดภัยหรือไม่?
- วัคซีนมีความปลอดภัย :เป็นวัคซีนที่ใช้มานานกว่า 50 ปี และมากกว่า 100 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ควรฉีดเป็นประจำทุกปี ฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้หวัดใหญ่
- การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่เกี่ยวข้อง และไม่กระทบกับการตรวจพบเชื้อไวรัสทางทางเดินหายใจอื่นๆ และไม่ได้เพิ่มโอกาสที่จะทำให้ติดเชื้อ COVID-19 รวมถึง ติดเชื้อเชื้อไวรัสตัวอื่นๆ
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
- อาจจะมีอาการปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีไข้อ่อนๆ ได้บ้างแต่จะหายไปเองภายในเวลา 1-2 วัน
- จะไม่พบ อาการปวดหัว มีไข้ ไอ คัดจมูก เจ็บคอแบบรุนแรงหลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
- ควรปรึกษาแพทย์หากพบอาการรุนแรง หรือไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ร่วมกับ COVID-19 จะยิ่งทำให้อาการรุนแรงขึ้นหรือไม่?
การแยกระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่กับ COVID-19 อาจทำได้ยากหากดูเพียงอาการภายนอก เพราะ อาการของโรคทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือ COVID-19 ก็มีโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อเช่นเดียวกัน คือ ปอดบวม ดังนั้นหากเราไม่ได้ป้องกันตัวเอง ก็อาจจะโชคร้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ร่วมกับ COVID-19 ได้ และการติดเชื้อสองตัวพร้อมกัน อาจส่งผลทำให้การรักษานั้นยุ่งยากมากขึ้น ในกลุ่มเสี่ยงหากเป็นโรคร่วมแล้วนั้น อาจจะส่งผลให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น ได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เป็นต้น
ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แล้ว หากมีการติดเชื้อ COVID-19 ภายหลัง ร่างกายจะสามารถสร้างภูมิต่อ COVID-19 ได้ตามปกติหรือไม่?
- การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่เกี่ยวข้อง และไม่กระทบกับการตรวจพบเชื้อไวรัสทางทางเดินหายใจอื่นๆ และไม่ได้เพิ่มโอกาส ที่จะทำให้ติดเชื้อ COVID-19 รวมถึงติดเชื้อไวรัสตัวอื่นๆ
- หลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันที่เฉพาะเจาะจงกับ เชื้อไข้หวัดใหญ่ หากมีการติดเชื้อCOVID-19 ภายหลัง ร่างกายก็สามารถที่จะสร้างภูมิที่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ภายหลัง
- องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในช่วงการระบาดของ COVID-19
- แม้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะไม่ได้ป้องกัน COVID-19 แต่ก็ยังคงแนะนำให้ฉีดเป็นประจำทุกปี เนื่องจากมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ทุกปี และยังช่วยลดผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ ที่คล้ายคลึง กับ COVID-19 ได้บางส่วน ทำให้ช่วยแยกโรค ช่วยลดWorkload ของบุคลากรทางการแพทย์
COVID-19 และ ไข้หวัดใหญ่ มีอะไรที่เหมือนกัน
- อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ และโรค COVID-19 มีอาการใกล้เคียงกันมาก เช่น มีไข้ ไอ หายใจลำบาก
- ปัจจุบันการรักษาโรคนี้ เป็นการนำเอายารักษา โรคอื่นๆ ที่มีอยู่ เช่น ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาต้านมาลาเรีย เป็นต้น โดยประสิทธิภาพของการรักษาต้องรอข้อมูลการศึกษาต่อไป
- ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
COVID-19 และ ไข้หวัดใหญ่
อาการ : COVID-19 (อาการจากเบา-หนัก) : ไข้หวัดใหญ่ (การเกิดอาการแบบฉับพลัน)
เป็นไข้ พบบ่อย พบบ่อย
อ่อนเพลีย พบได้บ้าง พบบ่อย
ไอ พบบ่อย (มักไอแห้ง) พบบ่อย (มักไอแห้ง)
จาม ไม่พบ ไม่พบ
ปวดเมื่อยตามตัว พบได้บ้าง พบบ่อย
มีน้ำมูก/คัดจมูก พบน้อย พบได้บ้าง
เจ็บคอ พบได้บ้าง พบได้บ้าง
ท้องเสีย พบน้อย พบได้บ้าง (ในเด็ก)
ปวดศีรษะ พบได้บ้าง พบบ่อย
หายใจเหนื่อยหอบ พบได้บ้าง ไม่พบ
รู้มั้ย! ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จาก COVID-19 และ ไข้หวัดใหญ่ เป็นกลุ่มเดียวกัน
ประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรได้รับวัคซีนอะไร เป็นพิเศษในช่วงการระบาดของ COVID-19 ?
- องค์การอนามัยโลกภูมิภาคยุโรป แนะนำและให้ความสำคัญกับการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal) ในประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในช่วงการระบาดของ COVID-19
-
โรคติดเชื้อ COVID-19 คืออะไร ทำไมผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จากโรค COVID-19 และไข้หวัดใหญ่ ถึงเป็นกลุ่มเดียวกัน คือ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ?
COVID-19 เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มโคโรนาที่ทำให้มีไข้และอาการระบบทางเดินหายใจ
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไข้ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก บางรายอาจมีปอดอักเสบรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ผู้ป่วย 1 คน จะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ 2-4 คน รายการเสียชีวิตจากโรคประมาณ ร้อยละ 4.6
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจคล้ายคลึงกับ COVID-19 ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง ทั้งสองโรคนี้ สาเหตุการเสียชีวิตมาจากภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ปอดบวม ซึ่งอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมีภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
โรคระบาดอื่นๆ อาจกลับมาถ้าไม่ป้องกัน
นอกจาก COVID-19 แล้ว...หากไม่ฉีดวัคซีน หรือเลื่อนการฉีดวัคซีนในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน อาจก่อให้เกิดโรคระบาดอื่นๆ ตามมาได้ การเลื่อนการฉีดวัคซีน หรือสร้างภูมิคุ้มกันของโรคต่างๆ แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะส่งผลกระทบในการเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคอื่นๆ ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน (Vaccine Preventable Disease) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเสียชีวิต ของโรคที่ป้องกันได้ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ควรฉีดเป็นประจำทุกปี ฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้หวัดใหญ่
4 คำถามยอดฮิต กับการรับวัคซีนช่วง COVID-19
- จำเป็นไหมต้องมารับวัคซีนพื้นฐานในช่วงนี้ จำเป็นในด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กเล็ก เพราะนอกจากโรด COVID-19 แล้วก็ยังมีโรคร้ายแรงอื่นๆ ที่เด็กมีความเสี่ยงจะป่วยและมีอาการรุนแรง ดังนั้นการเลื่อนการรับวัคซีนจะส่งผลให้เด็กพลาดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่จำเป็น รวมถึงพลาดรับวัคซีนบ้างชนิดที่มีระยะเวลาจำกัด
- สถานบริการมีการเตรียมการรับมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ COVID-19 อย่างไร
- บริหารจัดการช่วงเวลาการให้บริการและจำนวนผู้มารับบริการ
- มีมาตรการป้องกันโรคที่เหมาะสม อาทิ การทำความสะอาดสถานที่โดยเฉพาะพื้นผิวสัมผัสที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ
- เตรียมตัวให้พร้อมอย่างไรเมื่อต้องเดินทางมารับวัคซีน ควรสวมหน้ากากอนามัย และป้องกันตนเองด้วยการระวังการติดเชื้อจากละออง (Droplet Transmission Precaution) โดยเว้นระยะห่างระหว่างผู้มารับบริการ
- ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ควรฉีดเพื่อลดโอกาสการป่วยที่มีอาการ และอาการแสดงคล้ายกับการติดเชื้อSARS-Cov2 (Influenza-like illness) จะได้ไม่ถูกกักตัวและติดตาม แม้วัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันการติดโรด COVID-19
เรื่องควรรู้ก่อนเข้ารับวัคซีน
ใครควรเลื่อนกำหนดการเข้ารับวัคซีนออกไป
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ยังคงมีอาการกำเริบ เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น หอบเหนื่อย
- ผู้ที่กำลังมีไข้หรือกำลังเจ็บป่วยเฉียบพลัน หากเป็นหวัด น้ำมูกไหลโดยไม่มีไข้ โดยทั่วไปสามารถให้วัคซีนได้
ผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าวข้างต้น ควรเลื่อนการฉีดวัคชีนออกไป จนกว่าอาการเหล่านั้นจะกลับมาเป็นปกติหรือโรคประจำตัวมีอาการคงที่ควบคุมได้ การให้วัคซีนในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจได้ผลไม่ดี แต่อาจมีประโยชน์มากกว่าไม่ให้ ซึ่งต้องเสี่ยงจากการเกิดโรคตามธรรมชาติซึ่งอาจรุนแรงและไม่ควรให้วัคซีนมีชีวิตเพราะอาจเกิดอาการข้างเคียงรุนแรง
สำรวจตัวท่านเองว่าแพ้สิ่งเหล่านี้หรือไม่?
- แพ้ยาต้านจุลชีพ เนื่องจากวัคซีนบางชนิดอาจมีส่วนประกอบของยาต้านจุลชีพ เช่น นีไอมัยชิน สเตรปโตไมซิน และไพลีมัยชินบี ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนเข้ารับวัคซีน
- แพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรง เช่น มีอาการหน้าหรือตัวบวม หายใจลำบาก หน้ามืด ควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่ที่มีอาการแบบลมพิษ สามารถเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ให้สังเกตอาการ 30 นาที หลังฉีด
- แพ้ส่วนประกอบใดๆ ในวัคซีน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการแพ้เมื่อเข้ารับวัคซีนครั้งต่อไป
ข้อมูลที่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพิ่มเติม
- ผู้ที่เคยเป็นโรคกิลเลนบ้าร์เร่ ซินโดรม (Guillain-Barre Syndrome หรือ G8s) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
- หญิงตั้งครรภ์ หรือมีแผนตั้งครรภ์ใน 1 เดือน หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรได้รับวัคซีนเชื้อเป็น ยกเว้นในกรณีที่มีโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อชนิดนั้นสูง ซึ่งจะมีผลต่อหญิงตั้งครรภ์หรือทารกในครรภ์
- ตรวจสอบเวลานัดหมายให้แน่ชัด หากระยะห่างของการให้วัคซีนใกล้กันเกินไป อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำกว่าที่ควรเป็น
เรื่องควรปฏิบัติหลังเข้ารับวัคซีน
- ควรพักสังเกตอาการ 30 นาที เพื่อสังเกตอาการผิดปกติ เพราะอาการแพ้ที่รุนแรง (Anaphylaxis) มักเกิดภายใน 30 นาที หลังฉีดวัคซีน ได้แก่ อาการคันที่ผิวหนัง บวมตามปาก หน้า ลำคอ หายใจลำบาก วิงเวียน ใจสั่น เป็นลม เหงื่อออก ชีพจรเบา ช็อก เป็นต้น
- อาจมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้หลังรับวัคซีน อาการเฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง จ้ำเลือด แต่จะหายเองภายใน 1-3 วัน อาการทั่วไปที่บรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดลดไข้ (เช่น พาราเซตามอล) เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ไข้ต่ำ ๆ มักหายได้เองภายใน 1-3 วัน
- ควรคุมกำเนิดหลังได้รับวัคซีน 1 เดือน ในผู้หญิงที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น เช่น วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน และวัคซีนอิสุกอิใส
- เก็บสมุดบันทึกการเข้ารับวัคซีนไว้ตลอดไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการประเมินภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ในอนาคต
ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik