B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / เพราะ “หัวใจ” สำคัญ ควรหมั่นดูแล
เพราะ “หัวใจ” สำคัญ ควรหมั่นดูแล
02 สิงหาคม 2022

โรคหัวใจ เป็นกลุ่มโรคที่มักไม่แสดงอาการชัดเจน โรคหัวใจบางชนิดไม่มีอาการนำที่แสดง หรือ สามารถสังเกตเห็นได้ หรืออย่างน้อยไม่มีอาการที่รุนแรงและชัดเจน  ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าอาการเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นอาการของโรคหัวใจ ซึ่งกว่าจะรู้ก็อาจจะสายเกินไป

 

เพราะ “หัวใจ” สำคัญ...ควรหมั่นสังเกตุอาการตนเอง
ถึงแม้ว่าอาการของโรคหัวใจจะไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นมากนัก แต่ก็สามารถสังเกตุได้จากอาการเหล่านี้ เช่น

  • เหนื่อยง่าย ใจสั่น หายใจลำบาก                                
  • รู้สึกเจ็บหน้าอกหรือแน่น บริเวณกลางหน้าอก
  • มีอาการหน้ามืด มีอาการวูบไม่รู้สึกตัวกะทันหัน
  • เหนื่อยเวลาออกกําลังกาย
  • บวมตามตัวโดยเฉพาะขา
  • นอนหนุนศีรษะสูง หายใจไม่สะดวกเวลานอนต้องลุงขึ้นนั่ง
  • ริมฝีปากและมือเท้าเขียว
  • ไอเป็นฟองสีชมพู หรือมีเลือดปน

 

ดังนั้น เมื่อพบอาการผิดปกติดังกล่าว ไม่ควรละเลยเด็ดขาด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพราะหากสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และได้รับการรักษาอย่างทันเวลา ก็จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ จึงควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองและคนในครอบครัว หากมีอาการต้องสงสัยหรือไม่แน่ใจ ควรเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อทำการตรวจยืนยันและประเมินความเสี่ยง

 

เพราะ “หัวใจ” สำคัญ...ควรหมั่นตรวจเช็ค
การตรวจสุขภาพ ช่วยให้พบปัญหาที่อาจกลายเป็นอันตรายได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ก่อนเกิดโรค ซึ่งหากได้รับการดูแลรักษาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคร้าย  และหากเมื่อตรวจพบความผิดปกติของร่างกายแล้ว จะได้รับการรักษาที่รวดเร็วเหมาะสม ซึ่งการรักษาจะได้ผลดี และมีประสิทธิภาพมากที่สุด การตรวจสุขภาพหัวใจก็เช่นกัน ทำให้รู้ถึงความเสี่ยง พอรู้เร็ว โอกาสที่จะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจในอนาคตก็จะลดลง หรือ สามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที

โดยทั่วไป ควรตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี จะทำให้เราสามารถคาดคะเนความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ เช่น ตรวจเลือดแล้วพบว่าเป็นเบาหวาน หรือมีไขมันในเลือดสูง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน หรือเอกซเรย์แล้วพบว่า ขนาดของหัวใจโตกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น

ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจ มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรเพิ่มความถี่ในการตรวจมากขึ้น ทั้งนี้การตรวจสุขภาพหัวใจทำได้หลายวิธี เช่น
           - การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
           - การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test : EST)
           - การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography : Echo)

 

เพราะ “หัวใจ” สำคัญ...ป้องกันอย่างไรดี

  • เลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดปัญหากับหัวใจ ได้แก่ การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารประเภทแป้ง อาหารที่มีรสหวานจัด อาหารที่มีไขมันสูง และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อันมีผลต่อการเกิดโรคหัวใจตามมา
  • ตรวจความดันโลหิต และไขมันในเส้นเลือดเป็นประจำ พยายามควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 140/90
    มิลลิเมตรปรอท การออกกำลังกายเป็นประจำและพยายามลดไขมันรอบพุง (รอบเอว) มีส่วนช่วยลดความดัน
    เลือดได้ และตรวจไขมันในเลือดโดยพยายามทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) สูงกว่า 50 ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงาน เพราะความเครียดทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนจนเกินไป หมั่นรับประทานผัก และผลไม้ เช่น ผักโขม แครอท ลูกพีช และเบอรี่ อุดมไปด้วยวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงแอนตี้ออกซิแดนท์ และไฟเบอร์
  • ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเช็คความสมบูรณ์แข็งแรงของหัวใจ ด้วยการตรวจเอกซเรย์ทรวงอก ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ตามปกติ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test : EST) สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการวิ่งสายพานจะเป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) แต่หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็นๆ หายๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.