B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว ด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นวิทยุผ่านสายสวน Electrophysiology Study & Radiofrequency Catheter Ablation
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว ด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นวิทยุผ่านสายสวน Electrophysiology Study & Radiofrequency Catheter Ablation
30 กรกฎาคม 2024

ระบบไฟฟ้าหัวใจ

หัวใจ ประกอบด้วย ระบบหลอดเลือดที่ทำหน้าที่นำเลือดไปเลี้ยงเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ  และระบบไฟฟ้าหัวใจที่ทำหน้าที่กำกับจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยเริ่มจาก SA node คือ ตัวกำเนิดจังหวะไฟฟ้า สั่งงานไปที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องบน ให้บีบตัวเต้นเป็นจังหวะ ผ่านลงสู่ AV node และกระแสไฟฟ้าจะผ่านไปยังหัวใจห้องล่างขวาและห้องล่างซ้ายทางเส้นใยนำไฟฟ้า ทำให้หัวใจบีบตัวเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ด้วยความเร็วที่เปลี่ยนไปตามกิจกรรมของร่างกาย โดยในขณะพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60 - 100 ครั้งต่อนาที

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น หัวใจเต้นเร็ว, หัวใจเต้นช้า และหัวใจเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ สาเหตุอาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจเดิมอยู่แล้ว หรือในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุน้อย อาจเกิดจากมีวงจรไฟฟ้าผิดปกติที่หัวใจ ทำให้มีอาการหัวใจเต้นเร็วขึ้นมาทันทีโดยที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือในกรณีผู้ป่วยมีอายุมาก อาจเกิดจากความเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้ามาก ส่งผลให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งอาจจะมีอันตรายได้

ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  1. ความเครียด ความวิตกกังวล
  2. การดื่ม ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง แอลกอฮอลล์  หรือการรับประทานยาบางชนิดที่กระตุ้นหัวใจ 
  3. การออกแรง หรือการออกกำลังกายหักโหม
  4. การพักผ่อนไม่เพียงพอ

อาการของภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

  1. มีอาการใจสั่น
  2.  มีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือวูบ หมดสติ
  3. มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง
  4. มีอาการเจ็บหน้าอก 

การวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG)
  2. การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แบบพกติดตัว (Holter Monitor)
  3. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย ด้วยการเดินสายพาน (Exercise Stress Test: EST)
  4. การตรวจการทำงานของระบบไฟฟ้าหัวใจ ด้วยสายสวนหัวใจ (Electrophysiology Study: EPS)
     

แนวทางการรักษา

1.  ถ้าหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดไม่รุนแรง รักษาโดยการรับประทานยา

2.  ถ้ามีอาการรุนแรง ได้แก่ หน้ามืด เป็นลม หรือมีอาการบ่อยๆ  จะรักษาด้วยการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง

  1. การตรวจการทำงานของระบบไฟฟ้าหัวใจด้วย สายสวนหัวใจ (EP study:  Electrophysiology Study)

คือ การตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ โดยติดตั้งสายสวน (Catheter) บริเวณหลอดเลือดที่มุ่งสู่หัวใจ เพื่อตรวจและบันทึกการทำงานของกระแสไฟฟ้าหัวใจ และหาสาเหตุหรือความผิดปกติที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ

  1. การจี้รักษาด้วยพลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุ โดยใช้สายสวนพิเศษ (Radiofrequency Catheter Ablation : RFCA)

 คือ การรักษาภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่ได้ผลดี (80 –95%) โดยใส่สายสวนไปวางที่ตำแหน่งต่าง ๆ ในหัวใจ เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และใช้กระตุ้นหัวใจ จากนั้นแพทย์จะสอดสายสวนพิเศษเข้าไป เพื่อหาตำแหน่งที่หัวใจนำไฟฟ้าเร็วกว่าปกติ เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการจะปล่อยกระแสไฟฟ้าความถี่สูง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนที่ปลายสายสวนพิเศษนี้  ทำให้การนำไฟฟ้าที่จุดนั้นถูกทำลาย

 

ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจจะเกิดขึ้น

  1. เกิดภาวะผนังหัวใจทะลุ
  2. หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง
  3. เกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด
  4. เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ จนต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
  5. มีโอกาสเสียชีวิตได้แต่โอกาสต่ำมาก< 0.2%

ขั้นตอนการปฏิบัติตัวก่อนการทำหัตถการ

  1. งดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมง                                                             
  2. งดยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin/Coumadin) และยากลุ่มควบคุมการเต้นของหัวใจ ตามคำแนะนำของแพทย์
  3. ก่อนทำหัตถการ จำเป็นต้องมีการตรวจเลือด, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอกซเรย์ปอด
  4. ในวันที่เข้ารับบริการ จำเป็นต้องมีญาติสายตรงที่สามารถตัดสินใจในการรักษาได้มาด้วย

ขั้นตอนการทำหัตถการ

  1. พยาบาลจะทำความสะอาดบริเวณขาหนีบทั้งสองข้าง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  2. แพทย์ทำการฉีดยาชา บริเวณขาหนีบข้างที่จะทำหัตถการ
  3. แพทย์ใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ ไปที่ห้องหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งและ สกัดวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูงผ่านสายสวน
  4. หลังนำท่อใส่สายสวนออก จะมีหมอนทรายวางทับเหนือแผลนาน 2-4 ชั่วโมง ห้ามงอขาข้างที่ทำนาน 4-6 ชั่วโมง

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน

  1. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง และมาตรวจตามนัด
  2. ดูแลแผลไม่ให้เปียกน้ำประมาณ 3 วัน
  3. หลีกเลี่ยงการออกแรงขาข้างที่ทำประมาณ 3 วัน
  4. หากแผลที่ทำมีอาการอักเสบ บวม แดง หรือ มีอาการไข้ ให้มาพบแพทย์
บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.