ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก แบบไหนเสี่ยงโรคหัวใจและควรพบแพทย์
23 มิถุนายน 2023
ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อออกปลายมือ ปลายเท้า โดยแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่อาการของโรคหัวใจเสมอไป เนื่องจากโรคหัวใจ มีรูปแบบแสดงอาการผิดปกติที่หลากหลายจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
1.กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
2.หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ (เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ)
3.ลิ้นหัวใจผิดปกติ
4.เยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติ
การวินิจฉัยที่ชัดเจนและแม่นยำ เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ จึงต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางและการตรวจคัดกรองที่ทันสมัยเพื่อให้รู้เร็ว รู้ไวและรักษาได้อย่างทันเวลา
อาการแบบไหนเสี่ยงโรคหัวใจ
- อาการเจ็บแน่นหน้าอก เจ็บคล้ายมีเข็มแทง เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก เกิดขึ้นขณะพัก มีอาการนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า ขยับตัว หรือหายใจเข้าลึกๆ รวมไปถึงเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้า
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและรัวกะทันหัน มีอาการหน้ามืด เป็นลมหมดสติ มีอาการวูบไม่รู้สึกตัวกะทันหัน
- หอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นขณะออกแรง เป็นขณะพัก ไม่สามารถนอนราบได้ นอนกลางคืนแล้วต้องตื่นมานั่งหอบ เดินใกล้ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องระวังอาจจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว
- อาการขาบวม ในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากหัวใจด้านขวาทำงานน้อยลง เลือดจากขาไม่สามารถไหลกลับเข้าไปที่หัวใจด้านขวาได้สะดวก บริเวณหน้าแข้งหรือบริเวณปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง หากใช้นิ้วมือกดลงไปจะพบว่าเนื้อบุ๋มลงไปและเมื่อยกนิ้วขึ้นมาเนื้อก็ยังไม่คืนตัวร่วมกับมีอาการเหนื่อย นอนราบไม่ได้และมีอาการแน่นท้องมากขึ้น
เมื่อมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาความเสี่ยงโรคหัวใจทันที โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพผู้ตรวจและของบุคคลภายในครอบครัว พร้อมกับตรวจร่างกายโดยละเอียดซึ่งจะช่วยให้ระบุได้ว่าเป็นโรคหัวใจ หรือกำลังจะเริ่มเป็นได้ รวมไปถึงแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองโรคหัวใจดังต่อไปนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Elektrokardiogram: EKG) คือ การทดสอบจังหวะการเต้นและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ ระหว่างการตรวจจะมีการติดเซนเซอร์บนผิวหนังเพื่อตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง ซึ่งสัญญาณเหล่านี้จะถูกบันทึกโดยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสามารถพิมพ์ออกมาในรูปแบบกระดาษได้ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยเฉพาะเมื่อตรวจในขณะมีอาการ
- การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการทำเอคโค่หัวใจ (Echocardiogram) เป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้า-ออกจากหัวใจ โดยการตรวจนี้ใช้หลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่เรียกว่า อัลตราซาวนด์ (Ultrasound) หรือพูดง่ายๆ ว่าใช้หลักการเดียวกับการตรวจอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์ทางสูตินรีเวชนั่นเอง
- การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST: Exercise Stress Test) เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพาน หรือปั่นจักรยาน โดยวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจพบการตอบสนองที่ผิดปกติได้ เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรืออาจกล่าวได้ว่าวิธีนี้เป็นการตรวจสมรรถภาพของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ และระบบกล้ามเนื้อโดยรวมที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกาย
- การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยใช้ Holter Monitor เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. ไว้กับตัว โดยที่สามารถกลับไปพักที่บ้านหรือทำงานได้ตามปกติโดยไม่ต้องเสียเวลานอนพักค้างที่โรงพยาบาล และเมื่อครบกำหนด 24 ชม. แล้วจึงกลับมาถอดเครื่องคืนในวันถัดไป และรอรับทราบผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์
- การวินิจฉัยด้วยการสวนหัวใจ การวินิจฉัยด้วยการสวนหัวใจเป็นการตรวจเอ็กซเรย์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยสอดสายยางขนาดเล็กเข้าทางหลอดเลือดที่ขาหนีบ ข้อมือ และสอดไปตามเส้นเลือดที่เข้าสู่หัวใจ สารมีสีชนิดพิเศษจะถูกฉีดผ่านสายยาง เส้นเลือดในบริเวณที่มีภาวะตีบหรืออุดตันก็จะสามารถตรวจพบจากจอภาพเอกซเรย์
ดังนั้น เราจึงควรหมั่นสังเกตตนเองตั้งแต่วันนี้และถ้ามีปัจจัยเสี่ยง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ค เพราะโรคหัวใจหากคุณพบความผิดปกติก่อนการดูแลรักษาจะได้ผลดีกว่าและเป็นอันตรายน้อยกว่า