B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / โรคหัวใจ ใครเสี่ยง ?
โรคหัวใจ ใครเสี่ยง ?
26 พฤศจิกายน 2020

โรคหัวใจ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เนื่องจากมีพฤติกรรมเพิ่มความเสี่ยงกันมากขึ้น ทั้งการรับประทานอาหาร การไม่ดูแลสุขภาพร่างกาย ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจ เพราะอาการบางอย่างที่แสดงออกมา อาจจะคล้ายคลึงกับหลายๆ โรค ดังนั้น เราจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ อาการ รวมถึงการป้องกัน เพื่อสำรวจตัวเองว่ามีความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั่นเอง

 

สัญญาณเตือน อาการโรคหัวใจ 

เหนื่อยง่ายเวลาออกกําลังกาย หรือเดินเร็วๆ หายใจเข้าได้ลำบาก อาจจะเป็นตลอดเวลา เป็นขณะออกกำลังกาย หรือใช้แรงมาก หรือเป็นเฉพาะในเวลากลางคืน อาการโรคหัวใจจะเจ็บหน้าอก หรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก หรือด้านซ้าย หรือทั้ง 2 ด้าน ไม่สามารถนอนราบได้เหมือนปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจ และอึดอัดตรงหน้าอก นอกจากนั้น อาจมีอาการหอบจนต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก เป็นลมหมดสติไม่ทราบสาเหตุ ขา หรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ

 

ประเภทของโรคหัวใจที่สำคัญ

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่กระแสไฟฟ้าในหัวใจไม่สามารถผ่านทั่วหัวใจได้อย่างปกติทำให้หัวใจเต้นเร็ว หรือช้ากว่าปกติ บางรายอาจมีอาการแต่ไม่เป็นอันตราย
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ มี 3 ชนิด ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา โรคกล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบรัด
  • โรคลิ้นหัวใจ เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่มีขนาดผิดปกติ หรือทำงานเสื่อมสภาพลง

 

สาเหตุของโรคหัวใจ

ในกลุ่มของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ มักจะเกิดจากสาเหตุการมีก้อนไขมัน หรือมีก้อนลิ่มเลือดไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดแดงในหัวใจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อวัยวะต่าง ๆ ได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น นอกจากนี้โรคหัวใจอาจเกิดจากสาเหตุการติดเชื้อ หรือได้รับสารพิษบางอย่าง รวมไปถึงการได้รับถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา เป็นต้น

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ

  • อายุ ผู้ที่มีอายุมากขึ้น อวัยวะภายในร่างกายต่าง ๆ จะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ
  • กรรมพันธุ์ โรคหัวใจบางชนิดสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นหากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจอาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้อีกด้วย
  • พฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่จะมีผลทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดความผิดปกติ การรับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยไขมัน เกลือ น้ำตาล หรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และการไม่ออกกำลังกายเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ
  • ความเครียด มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คือ ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทซิมพาเทติก โดยจะเร่งให้เกิดการทำลายชั้นเซลล์ของผนังหลอดเลือดแดง นอกจากนี้ ความเครียดฉับพลันยังมีผลอย่างมากต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะอีกด้วย

 

การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ

  • แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามประวัติ อาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่พึงสงสัย รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคนไข้
  • แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั้งตัว ทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต
  • ตรวจด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กไปวางตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ หน้าอก แขน และขา จากนั้นกราฟจะแสดงคลื่นไฟฟ้าเพื่อให้แพทย์อ่านผลและวินิจฉัยระดับความรุนแรงของโรคต่อไป และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คือการให้ผู้ป่วยเดิน หรือวิ่งบนสายพาน เพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และดูการการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการวิ่งสายพาน จะเป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง(Echocardiography) เพื่อดูกายวิภาคของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจ การเคลื่อนที่และการบีบตัว วิธีนี้สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจได้เกือบทุกประเภท
  • การตรวจหัวใจ ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Coronary Artery) เป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบจากการมีไขมันไปเกาะหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถควบคุมและรักษาปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจให้ผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ สามารถใช้ในการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจอีกด้วย
  • หากเกิดข้อสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ การตรวจที่จะบอกได้แน่ชัด คือการตรวจฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ หรือที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจ

การรักษาโรคหัวใจ

โรคหัวใจสามารถป้องกัน และสามารถรักษาให้หายได้ โดยวิธีการหรือแนวทางในการรักษาขึ้นอยู่กับอาการ และร่างกายของคนไข้ ว่าเหมาะกับการรักษาวิธีใด โดยมีวิธีในการรักษาดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ออกกำลังกาย ไม่ดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ พยายามไม่เครียด ควบคุมน้ำหนัก นั่งสมาธิ
  • การรักษาด้วยยา หลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วจะต้องมียาบางตัวที่ต้องรับประทานตลอด เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและการใส่ขดลวด
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือการทำ "บายพาส"

 

การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลโรคหัวใจ

  • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกายได้
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักการจัดการความเครียด ควรหากิจกรรมที่ชื่นชอบ หรือผ่อนคลายความเครียดได้
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม เกินไป ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากใย
  • ตรวจเช็คสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.