B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / โรคหลอดเลือดหัวใจ รักษาได้ด้วยเทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือ
โรคหลอดเลือดหัวใจ รักษาได้ด้วยเทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือ
18 กันยายน 2020

โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากการเกาะของคราบไขมัน พังผืด หินปูน (Plaque) ภายในผนังของหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดมีการตีบและอุดตัน จนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือรุนแรงจนถึงขั้นหัวใจวาย หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้

ปัจจุบันพบว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นสาเหตุการตายลำดับที่สองของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับประเทศไทยอยู่ การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนั้น สามารถทำได้โดยการใช้บอลลูนถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งได้เริ่มทำการรักษาตั้งแต่ปี ค.ศ.1977 โดย ดร.กุลซิค ชาวเยอรมัน

สำหรับขั้นตอนการทำการสวนหลอดเลือดหัวใจนั้น ทำได้โดยการอาศัยหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ โดยเริ่มจากการฉีดยาชา และใช้เข็มเจาะผ่านเส้นเลือดบริเวณขาหนีบ และใส่สายสวนหลอดเลือดคาไว้ตรงบริเวณขาหนีบ Femoral Catheter   หลังจากนั้น ใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจตามเข้าไปจนถึงหลอดเลือดหัวใจ จึงเริ่มทำการวินิจฉัยโดยการฉีดสารทึบแสงและถ่ายภาพ X-ray (coronary angiogram)    ในกรณีพบว่าหลอดเลือดหัวใจมีการตีบตันนั้น เราสามารถให้การรักษาได้ในเวลาเดียวกัน โดยการใช้บอลลูนถ่างขยายหลอดเลือดผ่านทางสายสวน และสามารถใส่ขดรวดคํ้ายันหลอดเลือดในขั้นตอนสุดท้ายของการรักษา

A. ก่อนการรักษา  B. หลังการรักษา

หลังจากนั้นผู้ป่วยจะถูกส่งไปยังห้องพักฟื้น Post Angioplasty recovery room โดยหลังการรักษาสวนหัวใจยังคงมีสายสวนหลอดเลือดคาอยู่บริเวณขาหนีบ ซึ่งสามารถถอดออกได้หลังจากยาละลายลิ่มเลือดหมดฤทธิ์ ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง   โดยระหว่างนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนราบตลอดเวลา โดยสามารขยับตัวได้เพียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้สายสวนนั้นหลุด เมื่อครบเวลาจะทำการถอดสายสวนหลอดเลือดออก โดยจะมีเจ้าหน้าที่มาถอดออกเมื่อครบกำหนดเวลา  แต่เนื่องด้วยหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ เป็นหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ หลังจากถอดสายสวนออกแล้วจำเป็นต้องใช้แรงกดบริเวณขาหนีบต่อ จนกว่าเลือดจะหยุดไหล ซึ่งกินเวลาประมาณ 30 – 60 นาที นอกจากนี้เพื่อให้แน่ใจว่าเลือดหยุดจริง จำเป็นต้องใช้หมอนทรายกดทับบริเวณขาหนีบต่ออีก 4 ชั่วโมง และห้ามลุกเดินต่ออีก 6 ชั่วโมง รวมเป็น 10 ชั่วโมง  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเลือดออกบริเวณที่เจาะหลอดเลือดซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยสำหรับช่วงเวลาพักฟื้น  หลังการสวนหัวใจผ่านทางขาหนีบนั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและทุกข์ทรมานของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุซึ่งไม่สามารถนอนนาน ๆ ได้

ปัจจุบัน ทางยุโรปและประเทศแคนาดา ได้มีการพัฒนาการทำการสวนหัวใจ โดยเปลี่ยนมาใช้การเจาะหลอดเลือดผ่านทางข้อมือแทน ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ในส่วนของประเทศไทยนั้น มากกว่าร้อยละ 90 ยังคงรักษาผ่านทางขาหนีบ  

 

เทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือ

เริ่มต้นด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดเหมือนกันแต่ทำบริเวณที่ข้อมือ หลอดเลือดเล็กกว่า แผลเล็กกว่า เจ็บน้อยกว่าทำบริเวณขาหนีบ ส่วนการรักษาเหมือนกัน หลังทำการรักษาเสร็จสามารถอดสายสวนหลอดเลือดออกได้เลยโดยมีเพียงสายรัดข้อมือ ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับลูกโป่งเติมลมประมาณ 13 ชีชี โดยค่อยๆ ปล่อยจนลมหมดถ้าไม่มีเลือดออก

หลังทำผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ทันที ไม่มี mornitor มีมุมพักส่วนตัวนั่งพักผ่อนตามสบายบนโซฟาเบส

ไม่ใช้เตียงผู้ป่วยแบบเดิม ผู้ป่วยสามารถลุกมาที่มุมอ่านหนังสือพิมพ์ หรือจะเล่น IPad ญาติสามารถ มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาได้ หลังจากดูอาการ 4-6 ชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เลย นอกจากนี้ยังมีข้อได้เปรียบของการสวนหัวใจผ่านทางข้อมือต่างๆ ที่สำคัญและมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย

 

ข้อดีของเทคนิคสายสวนผ่านทางข้อมือ

  • ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่เกิดจากการใส่สายสวนหัวใจทางหลอดเลือดแดงที่ขา

  • ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลนาน ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ทันทีหลังการผ่าตัด

  • มีภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่จากการใส่สายสวนน้อยกว่าแบบการสวนผ่านทางขาหนีบ เนื่องจากเส้นเลือดมีขนาดเล็กกว่า และอยู่ใกล้ผิวหนังมากกว่า ทำให้ห้ามเลือดได้ดีกว่ามาก ซึ่งหากมีเลือดออกบริเวณขาหนีบอาจจะต้องให้เลือด หรือบางครั้งจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพองจนอาจต้องผ่าตัดซ่อมแซม และจะทำให้ผู้ป่วยงอขา หรือลุกเดินได้ช้า

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ให้ความสำคัญ และเล็งเห็นประโยชน์ของผู้ป่วยที่จะได้รับด้วยการรักษาด้วยเทคนิคดังกล่าว  อีกทั้ง ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ยังมีศักยภาพและความพร้อมที่จะให้บริการทางการแพทย์  ด้วยห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด (Cardiac Catheterization Lab) ซึ่งเป็นห้องพิเศษที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง สำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยให้คุณภาพในการรักษาผู้ป่วยดียิ่งขึ้นและมีความปลอดภัยสูงสุด 

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.