B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
ศูนย์ตรวจสุขภาพ

ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาล บี.แคร์  ให้บริการตรวจสุขภาพที่หลากหลายและครอบคลุมทุกความต้องการ ในกลุ่มอายุต่าง ๆ โดยใส่ใจในรายละเอียดของแต่ละบุคคลตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่แตกต่างกัน ให้บริการทั้งในรูปแบบบริษัทคู่สัญญา และบุคคลทั่วไป  นอกจากการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ แล้ว ยังพร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวให้มีสุขภาพที่ดีอีกด้วย รวมถึงการส่งต่อการรักษาไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือนัดหมายล่วงหน้า
ศูนย์ตรวจสุขภาพ ชั้น 2 อาคารบัณดารี เปิดบริการทุกวัน 07:00 น. - 15:00 น.
โทร 080-057-1868 / 02-532 4444 ต่อ 3534,1130

การตรวจสุขภาพ คืออะไร มีความจำเป็นอย่างไร?

บ่อยครั้งที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความหมายของการตรวจสุขภาพ เช่น จะตรวจสุขภาพเพราะมีอาการปวดหลัง หรือเจ็บหน้าอก เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่การตรวจสุขภาพ แต่เป็นการปรึกษาให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุของอาการหรือโรคนั้นๆ

การตรวจสุขภาพ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรคในผู้ที่มีความเสี่ยงจะพบได้ในอนาคต ผู้ที่เหมาะสมจะตรวจ คือ ผู้ที่สุขภาพดี สงสัยในการเป็นโรค/ ความเสี่ยงที่จะพบในอนาคต และต้องการได้รับคำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยน แก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดโรค เช่น ตรวจสุขภาพแล้วพบว่ามีไขมันในเลือดสูง ไม่ได้เจ็บป่วยอะไรก็จะได้ปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดอุดตันในอนาคต เป็นต้น 


ทำไมต้องตรวจสุขภาพ ?

สุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา  ดังนั้น จึงควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  เพื่อให้ทราบถึงความสมบูรณ์และความพร้อมของร่างกาย อีกทั้งยังสามารถวินิจฉัยโรคบางอย่างในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่สามารถแสดงอาการได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ การตรวจสุขภาพประจำปี จึงเปรียบเสมือนการเตรียมความพร้อมเพื่อความไม่เป็นโรคในอนาคต การเลือกว่าควรจะตรวจอะไรบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ  อาชีพ ประวัติคนในครอบครัว และสภาพร่างกายในขณะนั้น โดยท่านอาจจะเลือกโปรแกรมการตรวจสุขภาพเอง หรือให้แพทย์แนะนำให้ก็ได้ เพื่อให้ท่านได้รับการตรวจสุขภาพตามความเหมาะสม


การตรวจสุขภาพควรตรวจอะไรบ้าง ?

หลักการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปจะประกอบด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ปัสสาวะ การเอ็กซเรย์ ส่วนจะตรวจอะไรมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุ เพศหญิง หรือชาย ปัจจัยเสี่ยงจากประวัติตนเองหรือคนในครอบครัวหรือลักษณะของการประกอบอาชีพ เป็นต้น ซึ่งท่านสามารถรับคำปรึกษาเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตรวจได้


ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพ

การตรวจสุขภาพมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในการค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคในอนาคต เพื่อจะได้ป้องกันและขจัดปัจจัยเสี่ยงนั้นก่อนที่จะเป็นโรค การรักษาก่อนการเป็นโรคนั้น สามารถทำให้ทดแทนได้ในระยะเริ่มแรก เช่น โรคมะเร็ง

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมีหลายอย่าง เช่น การรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง เช่น 
- อาหารที่มีไขมันสูง มีผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง และเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองร่วมด้วย 
- การรับประทานอาหารรสจัด ไม่ตรงเวลา ทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ 
- การดื่มเหล้า เป็นสาเหตุของโรคตับอ่อนอักเสบ โรคพิษสุราเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับ รวมถึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย 
- การไม่ออกกำลังกายเป็นสาเหตุของโรคอ้วน ซึ่งมีผลให้เป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ขาดวิตามิน ไขมันพอกตับ ตับอักเสบ และมะเร็งตับในอนาคต
- ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ บางอย่างนำไปสู่การค้นหาปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันได้ เช่น เอ็กซเรย์ปอดก่อนเข้าทำงานพบว่ามีจุดอักเสบในปอด เมื่อสืบค้นต่อพบว่าเป็นวัณโรคปอด ซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อไปสู่คนในครอบครัว และเพื่อนร่วมงานได้
- การตรวจเลือดก่อนแต่งงานพบว่ามีเม็ดเลือดแดงผิดปกติหรือมีโลหิตจาง ในบางรายเป็นพาหะของโลหิตจางธาลัสซีเมียซึ่ง สามารถถ่ายทอดไปสู่บุตรได้ นอกจากนี้การตรวจเลือดอาจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น โรคซิฟิลิส กามโรค HIV
- การทำงานของตับผิดปกติ หรือพบเชื้อไวรัสตับอักเสบ 
ตรวจอุจจาระพบเม็ดเลือดแดง เมื่อส่องกล้องทางทวารหนักพบมะเร็งสำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ถ้าเป็นระยะแรก ก็สามารถรักษาหายขาดได้
- การฉีดวัคซีนหรือยาบางชนิดก็เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคตามองค์กรควบคุมโรค (CDC) และองค์กรอนามัยโลก (WHO) เช่นกัน เช่น วัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต, วัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ, บี, วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น 
- การตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone densiby) เพื่อดูเรื่องภาวะกระดูกพรุนที่ก่อให้เกิดกระดูกหักได้ในอนาคต
- การตรวจฮอร์โมนเพศในสตรีวัยทอง  (Premenoparse)

จะเห็นได้ว่าการตรวจสุขภาพ มุ่งเน้นในเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดโรค การรับคำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง หรือพฤติกรรมบริโภคซึ่งอาจนำมาซึ่งโรค เพื่อการระวังรักษาสุขภาพให้ดีตลอดไป 


คำอธิบายรายการตรวจสุขภาพ

รายการดังต่อไปนี้ เป็นรายการที่มีในโปรแกรมตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลของเรา รายละเอียดแหล่านี้ จัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในการตรวจสุขภาพประจำปีและการประเมินสุขภาพ หากมีผลผิดปกติ ท่านอาจจะต้องทำรายการตรวจที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น หรือ ทำการตรวจซื้อเพื่อประเมินปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการตรวจ

หมายเหตุ : รายการเหล่านี้ เป็นรายการที่ถูกระบุไว้ในแพคเกจการตรวจสุขภาพเท่านั้น โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ยังให้บริการการตรวจอีกหลายประเภทที่ไม่ได้ระบุไว้ในที่นี้

1. การวัดสัญญาณชีพและการตรวจร่างกาย
ค้นหาความผิดปกติ ของความดันโลหิต และความผิดปกติที่สามารถค้นพบได้เบื้องต้นจากการตรวจร่างกายของแพทย์

2. การตรวจเลือด
- การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC):เป็นการตรวจเพื่อค้นหาความผิดปกติของส่วนประกอบทั้งหมดของเลือดได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ความเข้มข้นของเลือด ซึ่งอาจบ่งบอกถึงสภาวะความผิดปกติของเลือด,ภาวะโลหิตจาง หรือภาวะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด : เป็นการตรวจสำหรับการหาภาวะโรคเบาหวาน และภาวะเสี่ยงในการเป็นเบาหวาน
- การตรวจไขมันในเลือด : เป็นการตรวจวัดระดับไขมันโคเลสเตอรอล, ไตรกลีเซอร์ไรด์ เพื่อระบุความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ
- การตรวจโรคเก๊าท์ (กรดยูริค) : เป็นการตรวจวัดเพื่อวัดระดับกรดยูริค ในเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคเก๊าท์

3. การตรวจการทำงานของไต
- BUN: (Blood Urea Nitrogen) : เป็นการตรวจวัดค่าของเสียของการเผาผลาญโปรตีนซึ่งจะบ่งบอกความสามารถในการขับของเสียของไต
- Creatinine:เป็นการวัดค่าของเสีย ที่เกิดขึ้นในกระบวนการสร้างพลังงานและจะขับออกทางไต ซึ่งสามารถบ่งชี้ภาวะการทำงานของไตได้ดี

4. การตรวจการทำงานของตับ
- SGOT (AST) and SGPT (ALT): การทดสอบเหล่านี้ตรวจสอบระดับเอนไซม์ตับที่มีอยู่ในเลือด ถ้าผลผิดปกติ อาจบ่งบอกภาวะโรคของตับบางอย่าง
- Alkaline phosphatase (ALP): เป็นเอ็นไซม์ตับอีกชนิดหนึ่งที่จะบ่งบอกความผิดปกติของตับ
- Total Bilirubin, Albumin, Globulin: เป็นการตรวจที่ใช้ร่วมกันเพื่อบ่งบอกโรคหลายอย่างของตับและโรคที่มีพื้นฐานเกี่ยวกับโรคไต
- Gamma GT (GGT): เป็นการตรวจที่ดูความผิดปกติของตับและช่วยในการวินิจฉัยผลบวกที่เป็นเท็จ (false-positives) ที่อาจเกิดกับผลตรวจอื่นๆ
- การทำงานของต่อมไทรอยด์ TSH and Free T4เป็นการตรวจที่ช่วยบ่งชี้ปัญหาของต่อมไทรอยด์ เช่น ทำงานมากผิดปกติ หรือทำงานน้อยเกินไป
- การตรวจไวรัสตับอักเสบบีและซี : เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และ ไวรัสตับอักเสบซี

5. การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง
- การตรวจมะเร็งทางเดินอาหาร(CEA): เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองความเสี่ยงของมะเร็งทางเดินอาหารจากเลือด ผลที่สูงกว่าค่าปกติไม่ได้แสดงถึงการเป็นมะเร็งเสมอไป
- การตรวจมะเร็งตับ(AFP): เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองความเสี่ยงของมะเร็งตับจากเลือด ผลที่สูงกว่าค่าปกติไม่ได้แสดงถึงการเป็นมะเร็งเสมอไป
- การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก(PSA): เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากจากเลือด ผลที่สูงกว่าค่าปกติไม่ได้แสดงถึงการเป็นมะเร็งเสมอไป

6. การตรวจปัสสาวะ
เป็นการตรวจทั่วไป ซึ่งมักจะใช้ในการวินิจฉัยโรคทางเดินปัสสาวะและไต

7. การทดสอบเกี่ยวเนื่องกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(EKG): การทดสอบที่ใช้ในการประเมินผลการทำงานของหัวใจในขณะพัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองหาจังหวะหัวใจผิดปกติ และความเสี่ยงของการเกิดหัวใจวาย
- การตรวจหัวใจโดยการเดินสายพาน(EST): เป็นการทดสอบการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกายเพื่อหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

8. การตรวจด้วยถ่ายภาพรังษีวินิจฉัย
- เอกซเรย์ปอด : การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดใช้สำหรับดูความผิดปกติในช่องทรวงอก เช่น ขนาดของหัวใจ โรคต่างๆของปอด และวัณโรค
- อัลตราซาวด์ช่องท้องทั้งหมด: เป็นการตรวจภายนอกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจหาขนาด ความผิดปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องท้อง  และใช้ในการดูมดลูกและรังไข่ในเพศหญิงและต่อมลูกหมากในเพศชาย

9. การตรวจภายใน
เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกและโอกาสที่จะเป็นมะเร็งของผู้หญิง อีกทั้งเป็นการตรวจในอุ้งเชิงกรานเพื่อมองหาความผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ (แคม, ช่องคลอด, ปากมดลูกมดลูก, ท่อนำไข่, รังไข่), กระเพาะปัสสาวะและทวารหนัก

10. การตรวจตา (วัดสายตาและความดันลูกตา)
เป็นการตรวจสุขภาพตาทั่วไปและค้นหาภาวะต้อหิน


การเตรียมตัวเข้ารับการตรวจสุขภาพ

ข้อแนะนำทั่วไป
- งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- หากท่านมีโรคประจำตัวหรือประวัติสุขภาพอื่น ๆ กรุณานำผลการตรวจรายงานจากแพทย์ และยาที่รับประทานอยู่มาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย
- หากท่านกำลังรับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต ท่านสามารถรับประทานต่อได้ตามที่แพทย์แนะนำ
- กรุณางดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ

ในกรณีเข้ารับการเอกซเรย์หรือส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
งดอาหาร น้ำ และเครื่องดื่มทุกชนิดอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ และต้องงดจนกว่าจะทำการตรวจเสร็จ

ในกรณีเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย
- กรุณานำรองเท้ากีฬามาด้วย
- หากท่านจำเป็นต้องรับประทานอาหารก่อนการตรวจ ควรรับประทานอาหารว่างเบาๆ เท่านั้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน คาเฟอีน และแอลกอฮอล์
- หากท่านอยู่ในระหว่างรับการรักษาหรือรับประทานยารักษาโรคอยู่ กรุณาแจ้งให้พยาบาลทราบก่อนเข้ารับการตรวจ

คำแนะนำสำหรับการตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง
- เพื่อให้ผลการตรวจที่ชัดเจนที่สุด ตรวจอัลตราซาวน์ช่องท้องส่วนล่าง ควรดื่มน้ำมากๆ และกลั้นปัสสาวะนาน 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
- ส่วนการอัลตราซาวน์ส่วนบน ควรงดน้ำและอาหาร 9-10 ชั่วโมงก่อนมาตรวจ


หน้าแรก
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.