B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / มองเห็นลูกน้อยในครรภ์ชัดทะลุจอด้วยอัลตราซาวนด์ 4 มิติ
มองเห็นลูกน้อยในครรภ์ชัดทะลุจอด้วยอัลตราซาวนด์ 4 มิติ
22 ธันวาคม 2022

   บรรดาว่าที่คุณแม่มือใหม่ที่รู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์คงอดเป็นกังวลไม่ได้ว่าลูกในท้องจะเป็นอย่างไร สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่ มีความผิดปกติใด ๆ หรือเปล่า ถ้าหากจะทำอัลตราซาวนด์ควรทำแบบไหนดี เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งแบบ 2 มิติ แบบ 3 มิติ หรือ จะเป็นแบบ 4 มิติก็จะเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการตรวจอัลตราซาวนด์แต่ละแบบก็จะมีความแตกต่างกันไป เรามีคำอธิบายมาให้คุณแม่ทราบเพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกหรือตัดสินใจค่ะ  

 

อัลตราซาวนด์ คืออะไร?
   ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อัลตราซาวนด์ (Ultrasound) นั้นเป็นคลื่นเสียงชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความถี่สูงเกินกว่า 20,000 Hz คลื่นเสียงอัลตราซาวนด์นี้ปัจจุบันได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นเครื่องมือใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย รวมทั้งในทางการแพทย์ โดยพัฒนาอัลตราซาวนด์มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคต่าง ๆ จนกลายมาเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากสำหรับแพทย์และผู้ป่วย


   หลักการทำงานของเครื่องอัลตราซาวนด์ ก็คือ เครื่องจะทำการส่งคลื่นเสียงอัลตราซาวนด์ออกไปจากหัวตรวจ ผ่านผิวหนังลงไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในร่างกาย แล้วสะท้อนกลับออกมาเป็นภาพให้เห็น แต่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายของเรานั้นมีความสามารถในการดูดซับคลื่นอัลตราซาวนด์ไม่เท่ากันจึงสะท้อนคลื่นกลับออกมาแตกต่างกัน หัวตรวจจะทำหน้าที่รับสัญญาณคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาในระดับต่าง ๆ และคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครื่องอัลตราซาวนด์จะทำการประมวลสัญญาณที่สะท้อนกลับมาและสร้างเป็นภาพขึ้นมาได้

 

การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์
   การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ นอกจากสามารถตรวจดูว่ามีความผิดปกติใด ๆ ในร่างกายของผู้ป่วยได้แล้ว ยังสามารถตรวจดูทารกที่อยู่ในครรภ์ได้อีกด้วยว่ามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่ แตกต่างจากในสมัยอดีตที่ยังไม่มีอัลตราซาวนด์ ซึ่งแพทย์จะต้องใช้มือคลำดูว่าทารกโตขึ้นหรือไม่ในแต่ละเดือน ร่วมกับใช้หูฟังดูว่าทารกที่อยู่ในครรภ์นั้นมีการเต้นของหัวใจเป็นปกติหรือไม่

   แต่ปัจจุบัน การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์จะช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นตัวของทารกในครรภ์ได้อย่างชัดเจน สามารถวัดขนาดได้ว่าตอนนี้ทารกตัวยาวกี่เซนติเมตร สามารถเห็นการเต้นของหัวใจ และบอกได้เลยว่าทารกมีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ ร่างกายมีความพิการหรือความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ ทารกมีหน้าตาเช่นไร เป็นเพศชายหรือเพศหญิง ตามขอบเขตของการมองเห็นจากภาพที่สะท้อนออกมา ซึ่งบางปัจจัยอาจส่งผลให้มองไม่เห็น เช่น ท่าของทารก เป็นต้น

   ในปัจจุบัน เครื่องอัลตราซาวนด์นั้นมีการทำงานที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เครื่องอัลตราซาวนด์ในสมัยเริ่มแรก สามารถมองเห็นภาพทารกได้เป็นแบบสองมิติ (Ultrasound 2D) คือภาพที่มีความกว้างและความยาว หรือภาพตัดขวางตามแนวของคลื่นเสียงที่ถูกส่งออกไป แต่ในเครื่องอัลตราซาวนด์สมัยใหม่นั้นเครื่องจะเก็บภาพสองมิติหลาย ๆ ภาพ ตามแนวที่หัวตรวจเคลื่อนผ่านไปและนำมาประกอบกันขึ้นเป็นภาพสามมิติ (3D) ซึ่งมีความลึกของภาพ ทำให้ดูเหมือนจริงมากยิ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นเครื่องตรวจอัลตราซาวนด์บางรุ่นยังสามารถเก็บภาพสามมิติแต่ละภาพไว้ แล้วนำมาแสดงผลเรียงต่อกันกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับภาพยนตร์ จึงมีชื่อเรียกว่าอัลตราซาวนด์สี่มิติ (Ultrasound 4D) โดยที่มิติที่สี่คือ “เวลา” นั่นเอง

 

การตรวจอัลตราซาวนด์ 4 มิติ (Ultrasound 4D)
   ปัจจุบัน การตรวจอัลตราซาวนด์ 4 มิติ (Ultrasound 4D) เป็นการตรวจที่เพิ่มความตื่นเต้นอัศจรรย์ให้กับคนในครอบครัว ในการต้อนรับสมาชิกใหม่ และเป็นที่นิยมแพร่หลายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถมองเห็นหน้าตาของทารกได้อย่างชัดเจน สามารถเห็นการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ได้ รวมไปถึงการศึกษาพฤติกรรมต่าง ๆ ของทารก เช่น เห็นทารกทำการเล่นกับสายสะดือ การดูดนิ้ว การหาว หรือยิ้ม ซึ่งนำมาซึ่งความปลื้มปิติของคุณพ่อคุณแม่ และยังนำมาซึ่งความมั่นใจและสบายใจได้ว่าทารกมีสุขภาพแข็งแรงและพร้อมจะออกมาลืมตาดูโลก

 

อัลตราซาวนด์ 4 มิติ สามารถบอกอะไรได้บ้าง ?
•    การเจริญเติบโต และพัฒนาการในครรภ์
•    เพศของทารก
•    ตำแหน่งทารก สายสะดือ และปริมาณน้ำคร่ำ
•    โครงสร้างกะโหลกศีรษะและสมอง
•    หัวใจ และการไหลเวียนเลือด
•    กระดูกสันหลัง กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และไต
•    แขน ขา มือ เท้า และนิ้ว
•    ใบหน้า และอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้า
•    อัตราการเจริญเติบโตของทารก ขนาดรอบศีรษะ ความยาว และน้ำหนัก

 

ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะทำอัลตราซาวนด์แบบ 3 มิติ และ 4 มิติ
•    ช่วงที่คุณมีอายุครรภ์ประมาณ 26 – 32 สัปดาห์ เพราะว่าถ้าทำก่อนหน้านั้นจะเห็นแค่โครงกระดูกของเด็กมากกว่า เนื่องจากร่างกายเด็กยังไม่สามารถสร้างไขมันได้เพียงพอ ส่วนเมื่ออายุครรภ์หลังจาก 32 สัปดาห์ไปแล้ว อาจจะมองเห็นไม่ชัด เพราะลูกอาจจะเริ่มกลับหัว บริเวณหน้าอาจจะอยู่บริเวณกระดูกเชิงกราน
•    การอัลตราซาวนด์ทุกครั้ง อาจจะไม่เห็นหน้าลูกทุกครั้งเหมือนอย่างที่คุณคิด ขึ้นอยู่กับว่าลูกกำลังนอนท่าไหน ซุกหน้าอยู่หรือเปล่า แพทย์อาจจะช่วยกระตุ้นให้เด็กขยับตัว พลิกตัวไปมา เพื่อหามุมให้เห็นหน้าชัดขึ้น แต่เด็กบางคนก็ขี้เซา ไม่ยอมพลิกตัว คุณแม่ต้องเปลี่ยนท่านอนเองเพื่อให้ได้มุมที่ดีขึ้น บางครั้งคุณหมออาจจะต้องให้คุณแม่ออกไปเดินเล่น หรือนัดใหม่อีกสัปดาห์หนึ่ง หากลองกระตุ้นให้ลูกพลิกตัวแล้ว แต่ลูกยังไม่สามารถพลิกมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้
•    การอัลตราซาวนด์ทั้ง 3 มิติ และอัลตราซาวนด์ 4 มิติ ปลอดภัยเท่าเทียมกันกับการทำแบบ 2 มิติ เพราะใช้พื้นฐานของการทำแบบ 2 มิติ แต่มาปรับเพิ่มมิติอื่น ๆ เองจากเครื่องมือ


   เมื่อทราบดังนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่บางท่านยังเป็นกังวลอยู่ว่าการตรวจอัลตราซาวนด์ไม่ว่าจะเป็นแบบกี่มิติ จะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ว่าจะกี่มิติก็ตาม ยังไม่เคยพบรายงานใด ๆ เกี่ยวกับการตรวจอัลตราซาวนด์ว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกหรือมารดาเลย แม้ว่าจะมีการตรวจซ้ำหลายครั้งก็ตาม แต่กลับเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยความผิดปกติของทารก และช่วยให้แพทย์สามารถทำการตัดสินใจในการให้การรักษาได้ดีขึ้น ดังนั้นการตรวจอัลตราซาวนด์จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกท่าน

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.