B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / ปวดท้องประจำเดือน อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คุณคิด
ปวดท้องประจำเดือน อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คุณคิด
27 กรกฎาคม 2023

ผู้หญิงส่วนใหญ่ต่างเคยมีอาการปวดประจำเดือนและมักคิดว่าอาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยเฉพาะหากมีอาการปวดเพียงเล็กน้อยและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ถึงแม้อาการปวดประจำเดือนเล็กน้อยแต่ปวดมาเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคร้ายได้เช่นเดียวกับอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดประจำเดือนนั้น 

 

อาการปวดประจำเดือนคืออะไร

ผู้หญิงจำนวนมากมีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน และระหว่างมีประจำเดือนในช่วงวันแรกๆ อาการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) มีตั้งแต่อาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งเล็กน้อย ไปจนถึงอาการปวดขั้นรุนแรงบริเวณท้องน้อยและอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลังด้านล่าง คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องอืด เวียนศีรษะและปวดศีรษะ เป็นต้น
 

สาเหตุของการปวดประจำเดือน

โดยเฉลี่ยทุกๆ 28 วัน หากไข่ไม่มีอสุจิมาผสม เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งก่อตัวขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งคล้ายกับอาการเจ็บปวดขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หากร่างกายหลั่งสารนี้ในปริมาณมากจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการบีบรัด ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือนยิ่งขึ้น
 

ประเภทของอาการปวดประจำเดือน

  • ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุมักเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไป
  • ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น
    • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก ซึ่งเมื่อเจริญผิดที่แต่ยังทำหน้าที่สร้างประจำเดือนเหมือนเดิม ทำให้อาจมีเลือดประจำเดือนในอุ้งเชิงกรานบริเวณที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเกาะในแต่ละรอบเดือน ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงและอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก
    • เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดประจำเดือนอย่างมาก หรือเลือดประจำเดือนมากและยาวนานกว่าปกติ 
    • เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids) มักไม่ใช่เนื้อร้าย ขนาดมีตั้งแต่เล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ หากมีขนาดใหญ่ มักทำให้มีเลือดประจำเดือนออกมามากหรือประจำเดือนกระปริบกระปรอยนานเป็นสัปดาห์ พร้อมกับอาการปวดประจำเดือนหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง 
    • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease) เป็นการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง ส่วนใหญ่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่รักษาให้หายขาด ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน และอาจเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก
    • ภาวะปากมดลูกตีบ (Cervical Stenosis) เกิดจากปากมดลูกแคบเกินไป ทำให้เลือดประจำเดือนไหลได้ช้าแต่หากรูปิดสนิท จะทำให้ของเหลวคั่งค้างภายในโพรงมดลูก ทำให้เกิดอาการปวดท้องมากและเรื้อรัง

 

การป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

  • ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยและหลัง
  • อาบน้ำอุ่น
  • ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น โยคะหรือนั่งสมาธิ
  • รับประทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) ควรรับประทานเมื่อเริ่มมีอาการปวดหรือก่อนมีอาการปวด การรับประทานยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรใช้เมื่อมีอาการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานผักและผลไม้ ลดปริมาณอาหารที่มีไขมัน เกลือ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขนมหวาน

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

  • รับประทานยาแล้วแต่ยังไม่หายปวด
  • อาการปวดประจำเดือนเป็นมากขึ้น
  • มีอายุมากกว่า 25 ปีและรู้สึกปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก
  • มีไข้พร้อมปวดประจำเดือน
  • เลือดประจำเดือนไหลออกมามากกว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
  • รู้สึกปวดท้องน้อยถึงแม้ไม่มีประจำเดือนก็ตาม
  • มีอาการติดเชื้อ เช่น ตกขาวมีกลิ่น อาการคันบริเวณปากช่องคลอด เลือดประจำเดือนมีสีแปลกไปจากปกติ
  • มีบุตรยาก

สำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่อาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ แต่หากมีอาการดังที่กล่าวมา อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงโรคภัยที่ร้ายแรงกว่าอาการปวดประจำเดือนทั่วไป อย่างไรก็ตามควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอาการปวดอย่างถูกต้องและช่วยลดความเสี่ยงให้การเป็นโรคร้ายแรงในอนาคต

 

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.