เตรียมตัว เตรียมใจ ก้าวสู่วัยทอง…รับมืออย่างไรให้มีความสุข
18 ธันวาคม 2020
สตรีวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน คือ วัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และจิตใจ ซึ่งเกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศ ส่วนใหญ่เกิดกับสตรีอายุระหว่าง 45-55 ปี มีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังเข้าสู่วัยทอง
อาการที่พบ เมื่อวัยทองมาเยือน
- มีอาการร้อนวูบวาบ หนาวๆ ร้อนๆ
- มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ
- ชาตามปลายมือ ปลายเท้า
- หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย ใจน้อย และ บางทีก็ซึมเศร้า
- บางรายมีอารมณ์ทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้ง แสบ
- ปัสสาวะบ่อยและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ระยะหลังหมดระดูไปนานแล้วปัญหาที่พบ ได้แก่ กระดูกพรุน โรคหลอดเลือดหัวใจ และสมองเสื่อม
เตรียมตัว...เตรียมใจ...เมื่อก้าวสู่วัยทอง
ผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยทอง ควรมีวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เพื่อให้มีอายุยืนยาวเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีต่อไปในอนาคต
- ละเว้นจากพฤติกรรมที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ การเสพสิ่งเสพติดและของมึนเมา
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทุกหมู่ ควรลดอาหารประเภท โปรตีน เนื้อสัตว์ เพื่อให้ไตไม่ต้องทำงานหนักเกินไป และลดความเสี่ยงต่อกระดูกพรุน ควรลดอาหารที่มีรสชาติหวาน และไขมันสูง เนื่องจากจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้น เพิ่มอาหารประเภทเส้นใย เช่น ผักและผลไม้ ซึ่งจะช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล และยังช่วยให้ขับถ่ายอุจจาระได้ดีขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
- เสริมแคลเซียม ซึ่งมีอยู่มากในอาหารประเภท ถั่ว งา ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย นม และผลิตภัณฑ์ของนม แต่สำหรับผู้สูงอายุ ถ้าจะรับประทานนม ควรทานประเภทพร่องมันเนย หรือจะรับประทานนม ควรทานประเภทพร่องมันเนย หรือจะรับประทานเป็นยาเม็ดแคลเซียมแทนก็ได้ แต่มีข้อพึงระวังในผู้ที่เป็นโรคไต ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
- ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ควรเป็นการออกกำลังกายที่ทำใหรู้สึกเหนื่อย หัวใจเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการออกกำลังกายประเภทใดก็ได้ ขึ้นกับความชอบและความสะดวก ท่านที่ออกกำลังกายแล้วก็ทำต่อไปได้ แต่ท่านที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ก็ให้เริ่มจากน้อยๆ ก่อน แล้วเพิ่มขึ้นช้าๆ ข้อสำคัญคือความสม่ำเสมอ สำหรับท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าการออกกำลังกายประเภทใดที่ท่านสามารถทำได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ และมีกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดบ้าง
- คู่สมรส ควรจะได้มีการพูดคุยกันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความต้องการ และปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ หากความพอใจของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน
- ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คสุขภาพประจำปี ซึ่งโดยพื้นฐาน ควรชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ ตรวจเลือดเช็คเบาหวาน และไขมันในเลือด การตรวจเต้านม และการตรวจภายใน พร้อมกับการเช็คมะเร็งปากมดลูก ในรายที่มีโรคประจำตัวและมีความเสี่ยงก็ต้องมีการตรวจเพิ่มเติมตามที่แพทย์เห็นว่าเหมาะสม
- ในกรณีที่ท่านรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในวัยทองรบกวนต่อคุณภาพในการดำเนินชีวิต อย่าลังเลที่จะไปปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกวิธีการดูแลแก้ไขปัญหา ซึ่งทางเลือกเหล่านั้นอาจจะเป็นการใช้ฮอร์โมนยา หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสมกับตัวท่าน