B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / 10 ข้อห้าม เมื่อตั้งท้อง
10 ข้อห้าม เมื่อตั้งท้อง
24 มกราคม 2023

ในช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรระมัดระวังการดำเนินชีวิตให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นระยะของการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญของลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การตั้งครรภ์มาก่อน อาจยังไม่รู้ถึงข้อห้ามหรือพฤติกรรมที่ไม่ควรทำขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจเป็นพิเศษก็คือเรื่องของความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมไปถึงเรื่องสุขภาพ และอาหารการกินที่อาจส่งผลร้ายต่อลูกน้อยได้โดยที่คุณแม่ไม่รู้ตัว โดยมีข้อห้ามหรือข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว ดังนี้

 

1. ห้ามสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอลล์  และสารเสพติดต่าง ๆ เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคนท้องโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูง และมีโอกาสแท้งได้ อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดความผิดปกติและความพิการทางร่างกายโดยกำเนิดที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้อีกด้วย

2. ห้ามรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ควรได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์สำหรับใช้เสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งหากรับประทานอาหารที่คนท้องไม่ควรทาน เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เค็มจัด หวานจัด มันจัด อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ จะทำให้คุณแม่ปวดท้อง ไม่สบายตัวได้ นอกจากนี้ก็ควรงดทานพวกของหมักของดอง อาหารกระป๋อง ผงชูรส รวมไปถึงเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน ชา กาแฟ และน้ำอัดลม ที่อาจมีสารเคมีบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้

3. ห้ามดื่มนมมากกว่าวันละ 1 แก้ว คุณแม่หลายท่านอาจเข้าใจผิดว่าหากดื่มนมเยอะ ๆ จะช่วยเสริมสร้างแคลเซียมให้กับลูก ซึ่งความจริง ดื่มเพียงนมวัววันละ 1 แก้ว หรือนมถั่วเหลืองวันละ 1 แก้วก็เพียงพอ เพราะหากดื่มนมมากเกินความจำเป็น จะทำให้ทารกมีความเสี่ยงต่อการแพ้ได้ง่าย เช่น แพ้โปรตีนในนมวัว เป็นต้น แต่หากคุณแม่อยากทานแคลเซียมเพิ่ม แนะนำให้ทานอาหารเสริมแคลเซียมชนิดอื่นแทน เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว งาดำ อัลมอนด์ เป็นต้น

4. ห้ามเครียด ขณะตั้งครรภ์หากคุณแม่เครียดจะส่งผลให้เด็กในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้า และอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้ เพราะร่างกายของคุณแม่จะหลั่งสารเคมีและฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) ออกมามากขึ้น ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงมดลูกและรกเกิดการหดตัว ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนที่ส่งไปยังทารกในครรภ์ลดน้อยลงและอาจไม่เพียงพอได้ นอกจากนี้เด็กที่คลอดจากคุณแม่ที่มีความเครียดสูง มักคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งยังมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน อาจมีผลต่อการเรียนรู้ เป็นโรคสมาธิสั้น หรือโรคในกลุ่มออทิสติก ส่งผลถึงสภาพจิตใจและการปรับตัวทางสังคมของลูกอีกด้วย

5. ห้ามออกกำลังกายหนักหรือรุนแรง คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ หรือหักโหมมากจนเกินไป ควรเลือกการออกกำลังกายที่เบา ๆ เช่น ว่ายน้ำ โยคะ เดินเหยาะ ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ออกกำลังกาย ควรพักดื่มน้ำทุก ๆ 10-15 นาที เพื่อให้ร่างกายได้ระบายความร้อนออก และเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร่างกายสูงจนเกินไป ที่สำคัญคุณแม่อย่าออกกำลังจนเหนื่อยหอบมากนัก จะทำให้ลูกในครรภ์ขาดออกซิเจนจนอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตได้

6. ห้ามยืนและนอนเป็นเวลานาน คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ควรเดินหรือยืนเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้ขาและเท้าบวมมากขึ้น อาจเกิดเส้นเลือดขอดที่ขา ทำให้ปวดหลังง่าย อักทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมอีกด้วย  นอกจากนี้คุณแม่ก็ไม่ควรนอนนานด้วยเช่นกัน เพราะน้ำหนักครรภ์จะไปกดทับกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง อีกทั้งน้ำหนักครรภ์อาจไปกดทับเส้นเลือดดำ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ร่างกายเกิดอาการบวม รู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาจทำให้หน้ามืดได้ ดังนั้นคุณแม่จึงควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 1-2 ชั่วโมง พยายามเปลี่ยนท่านั่งหรือยืดเส้นยืดสายบ่อย ๆ เพื่อช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดียิ่งขึ้น

7. ห้ามทานยาพร่ำเพรื่อ ในช่วงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เป็นช่วงที่คุณแม่ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังพัฒนาอวัยวะและระบบประสาทต่าง ๆ หากคุณแม่ทานยาที่มีอันตรายเข้าไปอาจส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า และอาจทำให้พิการได้ เช่น แขนขาพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ โดยเฉพาะการทานยาลดสิว หรือแม้แต่ยาสามัญประจำบ้านหลายชนิดก็ทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในครรภ์ได้เช่นกัน ซึ่งยาที่คุณแม่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยและไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น คือ ยาพาราเซตามอล ใช้แก้ปวด ลดไข้ ยาคลอเฟนิรามีน ใช้ลดน้ำมูก แก้แพ้ แก้คัน และผงเกลือแร่ แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

8. ห้ามลดน้ำหนัก แม้ว่าในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาก จนทำให้รู้สึกว่าอ้วนและไม่ค่อยมั่นใจกับรูปร่าง ห้ามลดน้ำหนัก เพราะหากคุณแม่ตั้งครรภ์ลดน้ำหนัก หรืออดอาหารขณะที่ท้องอยู่ จะทำให้ลูกในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ และยังเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดอีกด้วย  คุณแม่ควรบำรุงตัวเองให้มาก ๆ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงบำรุงด้วยวิตามินต่าง ๆ ที่มีส่วนช่วยในการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญของร่างกาย และถึงแม้ว่าคุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาหลายกิโล แต่หากเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ก็ถือเป็นวิธีลดน้ำหนักหลังคลอดได้ดีเลยทีเดียว

9. ห้ามอบไอน้ำ อบซาวน่า แม้ว่าการอบไอน้ำ หรือการอบซาวน่าจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า แต่ก็เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เพราะการอบไอน้ำนั้นอาจทำให้ลูกในครรภ์แท้งได้ เพราะความร้อนจากไอน้ำทำให้ร่างกายของคุณแม่ขาดน้ำและเกลือแร่ที่จำเป็น ส่งผลให้เลือดข้นจนทำให้เส้นเลือดอุดตัน เลือดจึงไปเลี้ยงทารกน้อยลง ทำให้ทารกเจริญเติบโตไม่เต็มที่และอาจถึงขึ้นแท้งได้

10. ห้ามทำความสะอาดมูลแมว คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เลี้ยงแมว ขอให้งดการเก็บมูลแมวก่อน ทั้งนี้เพราะในมูลแมว มีส่วนประกอบของท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) เชื้อปรสิตที่มีแมวเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการติดเชื้อและอาจส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติ โดยอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

เมื่อทราบข้อห้ามหรือข้อแนะนำต่าง ๆ นี้แล้ว คุณแม่อย่าลืมนำไปปฏิบัติใช้ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ให้มีพัฒนาการที่ดี และมีการเจริญเติบโตที่แข็งแรงสมบูรณ์

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.