ผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช “ยกระดับการดูแลสุขภาพผู้หญิง” ด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อการดูแลที่คุณวางใจได้
07 พฤษภาคม 2025
เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยส่วนใหญ่มักเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง แต่อาจก่อให้เกิดอาการรบกวน เช่น ปวดท้องน้อย ประจำเดือนมามาก มีบุตรยาก หรือคลำได้ก้อนในช่องท้อง ซึ่งหากอาการรุนแรงหรือมีผลต่อคุณภาพชีวิต แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกออก
การผ่าตัดผ่านกล้อง คืออะไร?
การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านกล้อง (Laparoscopic Myomectomy) เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ใช้กล้องขนาดเล็กและเครื่องมือพิเศษสอดผ่านรูเล็กๆ บริเวณหน้าท้อง เพื่อเอาเนื้องอกออกจากมดลูก โดยไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย ลดการเสียเลือด และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ซึ่งเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว
ภาวะที่เหมาะสมกับการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
- ถุงน้ำรังไข่ (Ovarian cyst)
- เนื้องอกรังไข่ (Ovarian tumor)
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
- เนื้องอกมดลูก (Myoma uteri)
- ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate cyst)
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
- การทำหมันหญิง (Tubal sterilization)
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง
- แผลเล็ก เจ็บน้อย
- ลดโอกาสเกิดพังผืดในช่องท้อง
- ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
- ฟื้นตัวเร็ว กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ไว
- พักฟื้นในโรงพยาบาลระยะสั้น
- ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
ใครบ้างที่เหมาะกับการผ่าตัดผ่านกล้อง?
- ผู้ที่มีเนื้องอกขนาดไม่ใหญ่มาก และมีจำนวนไม่มากเกินไป
- ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ซับซ้อน เช่น พังผืดจำนวนมาก หรือมีการยึดติดของอวัยวะภายใน
- ต้องการรักษามดลูกไว้ เช่น ผู้ที่ยังวางแผนมีบุตร
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- เข้ารับการตรวจร่างกายและวินิจฉัยด้วยอัลตราซาวด์หรือ MRI เพื่อประเมินตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก
- ปรับสภาพร่างกายให้พร้อม เช่น ควบคุมโรคประจำตัว งดน้ำและอาหารก่อนผ่าตัดตามคำแนะนำแพทย์
การดูแลหลังผ่าตัด
- กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ภายใน 1 – 2 สัปดาห์
- สามารถลุกเดินและรับประทานอาหารอ่อนได้ในวันถัดไป
- อาการเจ็บแผลจะค่อยๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่วัน
- แนะนำให้หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือออกกำลังกายหนักในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก
- พบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษา
หากคุณมีอาการผิดปกติ หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกมดลูก การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางจะช่วยให้คุณได้รับการดูแลและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพของคุณเอง และคุณภาพชีวิตในระยะยาว
ที่มา : ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย