B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / ประจำเดือนมามากแบบไหน “ไม่ปกติ”
ประจำเดือนมามากแบบไหน “ไม่ปกติ”
20 พฤศจิกายน 2023

ในภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คุณผู้หญิงบางคนต้องพบเจอ ทำให้มีคำถามอยู่ว่าภาวะดังกล่าวเป็นอันตรายหรือไม่อย่างไร วันนี้ทางเราก็มีรายละเอียดเกี่ยวกับภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติมาฝาก เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน

ประจำเดือนมามากแบบไหน “ไม่ปกติ”

  • ประจำเดือนมามากกว่า 7 วัน หรือจากประจำเดือนที่เคยมา 4-5 วัน ก็มายาวนานขึ้น
  • ระหว่างวันประจำเดือนมามากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ ชั่วโมง หรือ จากการเปลี่ยนผ้าอนามัยวันละ 2-3 ครั้ง ก็ต้องเปลี่ยนบ่อยขึ้น
  • ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยระหว่างนอนหลับตอนกลางคืน
  • พบลิ่มเลือดที่ไหลออกมาพร้อมเลือดประจำเดือนมีขนาดใหญ่มากขึ้น
  • อายุเข้าสู่เลข 5 หรือใกล้เข้าวัยทอง แต่ประจำเดือนกลับมามากกว่าปกติแทนที่จะน้อยลง

สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมามาก

  • ฮอร์โมนไม่สมดุล เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนทำงานผิดปกติ เกิดการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกมากเกินไปหรือหนาเกินไป กระบวนการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อกลายเป็นเลือดประจำเดือน จึงมากตามไปด้วยนั่นเอง
  • ปัญหาเกี่ยวกับมดลูก เพราะมดลูกมีความเกี่ยวโยงกับประจำเดือน หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่มดลูก ไม่ว่าจะเป็นเนื้องอกในมดลูก, อุ้งเชิงกรานอักเสบ, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ติ่งเนื้อบริเวณปากมดลูก หรือมะเร็งบางประเภท เช่น มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งรังไข่
  • ผลข้างเคียงจากการรักษาหรือการใช้ยา ประจำเดือนมามากผิดปกติ อาจเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษา เช่น การใช้ฮอร์โมน การให้เคมีบำบัด การใส่ห่วงคุมกำเนิด รวมไปถึงการใช้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด หรือการทานยาคุมกำเนิด
  • ประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคต่างๆ การทำงานของร่างกายที่บกพร่องหรือโรคบางอย่าง สามารถส่งผลต่อการมีประจำเดือนมากผิดปกติได้ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง, ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ, โรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ฮีโมฟีเลีย, โรคเกี่ยวกับตับหรือไต ที่มีผลต่อกลไกการห้ามเลือด รวมไปถึงการติดเชื้อในช่องคลอดหรือมดลูก โดยอาจมีอาการตกขาวมากร่วมด้วย

ประจำเดือนมามากจะอันตรายไหม…รู้ได้ด้วยการตรวจนี้

  • ตรวจภายใน แพทย์จะตรวจดูช่องคลอด ปากมดลูก ว่ามีก้อน แผล หรือติ่งเนื้อหรือไม่ ร่วมกับการเก็บเซลล์จากปากมดลูกเพื่อตรวจหาการติดเชื้อหรือการอักเสบ ตลอดจนคลำตรวจมดลูกและรังไข่ว่ามีขนาดปกติหรือไม่ กดแล้วเจ็บไหม หรือพบก้อนผิดปกติหรือเปล่า
  • อัลตราซาวนด์ หากแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นแล้วพบความผิดปกติที่มดลูกหรือรังไข่ การอัลตราซาวนด์จะช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น โดยสามารถอัลตราซาวนด์ได้ทั้งทางหน้าท้องและทางช่องคลอด

เพราะประจำเดือนมีความสัมพันธ์กับ “มดลูก” ที่เป็นอวัยวะสืบพันธุ์สำคัญของผู้หญิง  ดังนั้น หากมีอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ รวมถึงอาการปวดประจำเดือน รอบเดือนมาๆ หายๆ หรือตกขาวมามาก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

 

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.