1. ทำไมต้องให้นมแม่
เพราะนมแม่เต็มไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อทารกแรกเกิด ดูดซึมง่ายและมีสารภูมิคุ้มกันสำหรับทารกแรกเกิด
2. ทำอย่างไรถึงจะมีน้ำนมแม่มากเพียงพอที่จะเลี้ยงลูก
นมแม่สร้างจากเซลล์เล็กๆ ในกระเปาะเล็กๆ ในเต้านมแม่ หลังจากนั้นจะถูกสะสมอยู่ในกระเปาะเล็กๆ เมื่อมีการดูดนม น้ำนมจะถูกลำเลียงผ่านท่อน้ำนมและออกมาทางหัวนมให้ลูกน้อยได้กิน ฮอร์โมนที่สำคัญกับการหลั่งของน้ำนม คือ ฮอร์โมนโปรแลคติน ที่หลั่งมาจากต่อมใต้สมอง ฮอร์โมนโปรแลคตินจะมีปริมาณสูงในช่วงการตั้งครรภ์และช่วงการให้นม โดยฮอร์โมนโปรแลคตินจะสูงในช่วงก่อนการดูดนมและลดต่ำลงหลังการดูดนม
ดังนั้น การเข้าเต้าบ่อยๆ จะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนโปรแลคตินได้ จึงแนะนำให้มีการเข้าเต้าทุก 2-3 ชั่วโมง ข้างละประมาณ 15-20 นาที เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนมอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้ามถ้าคุณแม่ไม่ให้ลูกเข้าเต้าบ่อยๆ หรือคุณแม่มีความเครียดจะส่งผลต่อฮอร์โมนโปรแลคตินได้เช่นกัน
3. คุณแม่มีเต้านมเล็กจะมีน้ำนมเพียงพอให้ลูกไหม
เต้านมประกอบด้วย 2 ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรก คือ ต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม ซึ่งมีหน้าที่สร้างและลำเลียงน้ำนม
ส่วนที่สอง คือ ส่วนโครงสร้างเนื้อเยื่อมีหน้าที่เป็นโครงร่างของท่อน้ำนมและต่อมน้ำนม โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ ตัวไขมันซึ่งเป็นตัวกำหนดขนาดของเต้านมและไม่มีผลต่อการสร้างน้ำนม ดังนั้น ขนาดเต้านมเล็กหรือใหญ่ไม่ได้มีผลกับการสร้างน้ำนม
4. เคล็ดลับการสร้างน้ำนม
สารอาหารมีผลอย่างมากต่อการสร้างน้ำนม ดังนั้น จึงแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำเยอะๆ และเข้าเต้าบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง ข้างละประมาณ 15-20 นาที โดยดูดอย่างถูกวิธีและเกลี้ยงเต้า
5. หัวนมสั้น หัวนมบอด/บุ๋ม/แบน จะให้นมลูกได้ไหม
โดยปกติในช่วงการฝากครรภ์ ทางโรงพยาบาลจะมีการตรวจคัดกรองความผิดปกติของหัวนมและเต้านม ซึ่งหากพบว่าคุณแม่มีหัวนมสั้น, หัวนมบอด, หัวนมบุ๋ม หรือหัวนมแบน คุณแม่จะได้รับการแก้ไขความผิดปกติของหัวนมที่คลินิกนมแม่
6. หากมีอาการเจ็บเต้านมในช่วงให้นมลูกต้องทำอย่างไร
การเจ็บเต้านมเป็นภาวะที่พบได้บ่อย สาเหตุเกิดจากการคัดตึงเต้านม, การอุดตันของท่อน้ำนม, เต้านมอักเสบ หรือเป็นฝีที่เต้านม ในเบื้องต้นหากคุณแม่มีอาการดังกล่าวแนะนำให้ประคบร้อนก่อนประมาณ 10 นาที หรือมีการนวดเต้าและเข้าเต้าบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง หากอาการยังไม่ดีขึ้นแนะนำให้มาปรึกษาที่คลินิกนมแม่เพิ่มเติม
7. หัวนมแตกจะทำอย่างไรดี
ภาวะเจ็บหัวนม หัวนมแตก หรือมีเลือดไหล เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่าท่าอุ้มดูดนมและการงับลานหัวนมไม่ถูกต้อง หรือการใช้เครื่องปั๊มนมไม่ถูกวิธี หรือการมีพังพืดใต้ลิ้น ในเบื้องต้นแนะนำให้เข้าเต้าข้างที่เจ็บน้อยกว่าก่อนและเน้นให้ลูกงับถึงลานหัวนม หรือลองเปลี่ยนท่าเพื่อเปลี่ยนจุดระคายเคือง กรณีคุณแม่เจ็บหัวนมมาก แนะนำให้พักก่อนประมาณ 12-24 ชั่วโมง และต้องมีการระบายออกด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การปั๊มออก หรือ บีบนมออก
8. วิธีสังเกตลูกกินนมแม่อิ่มพอไหม
ในเบื้องต้นประเมินได้จากลูกและคุณแม่ คือ ลูกสามารถหลับได้อย่างต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง ถ้านมคุณแม่ไหลดี จะต้องมีเสียงดูดกลืนของลูก อีกส่วนหนึ่งคือดูจากน้ำหนักประมาณปลายสัปดาห์แรก ซึ่งน้ำหนักควรจะต้องเท่ากับน้ำหนักแรกเกิด หลังจากนั้นน้ำหนักก็จะขึ้นประมาณ 20-30 กรัมต่อวัน นอกจากนี้ สามารถสังเกตได้จากจำนวนของอุจจาระและปัสสาวะ โดยมีรายละเอียดดังนี้
• อายุ 3-5 วัน >>> ควรถ่ายปัสสาวะ 3-5 ครั้ง/วัน และอุจจาระ 3-4 ครั้ง/วัน
• อายุ 5-7 วัน >>> ควรถ่ายปัสสาวะ 4-6 ครั้ง/วัน และอุจจาระ 3-6ครั้ง/วัน
9. หากคุณแม่ป่วยและต้องทานยา ยังสามารถให้นมแม่ได้หรือไม่
กรณีที่แม่ป่วยแนะนำให้แจ้งแพทย์ก่อนเพื่อที่แพทย์จะได้ให้ยาที่ปลอดภัยสำหรับลูก ซึ่งมียาบางชนิดเท่านั้นที่สามารถผ่านทางน้ำนมแม่ได้
10. คุณแม่ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังสามารถให้นมแม่ได้ไหม
คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ และปฎิบัติตัวเหมือนคนได้รับวัคซีนทั่วไป
11. เวลาคุณแม่ทำงานนอกบ้านสามารถให้นมแม่ได้ไหม
• ก่อนคุณแม่ไปทำงาน แนะนำให้เอาลูกเข้าเต้าจนอิ่มก่อน
• ในระหว่างที่คุณแม่ไปทำงาน ผู้ดูแลสามารถให้นมแม่ที่เก็บเอาไว้ด้วยแก้วกับเด็ก
• ในระหว่างทำงานให้คุณแม่ปั๊มนมเก็บเอาไว้ เมื่อคุณแม่มีอาการคัดตึงเต้านม หรือปั๊มนมทุก 3 ชั่วโมง
• แนะนำให้เก็บน้ำนมไว้ในตู้เย็น หรือกระติกน้ำแข็ง
• ขณะนำน้ำนมกลับบ้าน แนะนำให้แช่ไว้ในกระติกน้ำแข็ง
เขียนโดย แพทย์หญิง นพวรรณ ชูสกุล
กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์