B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / เรื่องกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่ กับ โรคภูมิแพ้ในเด็ก
เรื่องกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่ กับ โรคภูมิแพ้ในเด็ก
02 ตุลาคม 2020

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อย เมื่อลูกไม่สบาย มีอาการ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก หรือ คันตาที่เป็น ๆ หาย ๆ หรือ มีอาการที่เรื้อรัง เรียกได้ว่าเป็น ๆ หาย ๆ มีความสงสัยหรือไม่ว่าอาการของลูกเป็นโรคอะไร  เป็นอาการของโรคภูมิแพ้หรือไม่ สามารถป้องกันหรือรักษาได้อย่างไรบ้าง หากพบอาการที่กล่าวและมีข้อสงสัยต่าง ๆ เหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อตรวจวิจิฉัย ดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

 

ปัจจัยการเกิดภูมิแพ้ในเด็ก แบ่งเป็น 2 ปัจจัย คือ

  1. ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม  เด็กๆ ที่มีประวัติ คุณพ่อคุณแม่ หรือ มีพี่น้องที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ มากกว่าเด็กที่ไม่มีประวัติ หรือ คนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้
  2. ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม มีเด็กบางคนที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ แต่มีอาการของโรคภูมิแพ้เช่นกัน  โดยปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ ได้แก่  ไรฝุ่น แมลงสาบ หรือ อยู่ในบ้านที่เลี้ยงสัตว์มีขน เช่น สุนัข แมว เป็นต้น หรือได้รับมลพิษทางอากาศ เช่น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

 

อาการที่แสดงออกของโรคภูมิแพ้

อาการที่แสดงออกของโรคภูมิแพ้ สามารถเกิดได้หลายระบบในร่างกาย เนื่องจากโรคภูมิแพ้เกิดจากการที่ปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันในร่างกายมีการตอบสนองที่มากผิดปกติ ต่อสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่อวัยวะต่างๆ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อย ตามระบบต่างๆ ดังนี้

 

  1. ระบบผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ
  • ผื่นลมพิษที่เป็นๆ หายๆ มักสัมพันธ์กับการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้บางชนิด โดยบางครั้งอาจมีอาการบวมที่รอบดวงตาหรือริมฝีปากร่วมด้วย
  • ผิวหนังแห้ง มีผื่นแดงคัน โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและแก้ม ข้อศอก ข้อพับ เข่า ซอกคอ และตามลำตัว

 

  1. ระบบทางเดินหายใจ
  • เป็นหวัดบ่อย หรือ มีอาการเป็นบางช่วงเวลา เช่น จาม น้ำมูกไหล โดยเฉพาะตอนเช้าหรือกลางคืน
  • เป็นหวัดเรื้อรัง หรือ ไซนัสอักเสบ
  • มีอาการไอหรือหายใจลำบากในบางช่วงเวลา เช่น วิ่งเล่น ออกกำลังกาย อากาศเปลี่ยน หรือหลังจากติดเชื้อทางเดินหายใจ

 

  1. ระบบทางเดินอาหาร
  • คลื่นไส้ อาเจียน แหวะนมบ่อยในเด็กทารก
  • ท้องอืด ถ่ายเหลว มีมูกเลือดปนในอุจจาระ

โรคภูมิแพ้ในเด็กที่พบได้บ่อย

  1. โรคแพ้อาหาร ซึ่งมักพบบ่อยในขวบปีแรก โดยอาหารที่พบว่าแพ้ได้บ่อยในเด็ก ได้แก่ นมวัว ไข่ไก่ แป้งสาลี ถั่วต่างๆ และอาหารทะเล โดยเกิดอาการได้หลายระบบ เช่น
    • ระบบทางเดินอาหาร เด็กจะมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายมีมูกปนเลือด
    • อาการทางผิวหนัง มีผื่นขึ้น ลมพิษ
    • ระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ คัดจมูก มีน้ำมูกเรื้อรัง

 

  1. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เด็กกลุ่มนี้มักมีผิวค่อนข้างแห้ง ร่วมกับมีผื่นแดงคัน ตามแก้ม ข้อพับ ข้อเข่า หรือข้อศอก  มักจะพบในเด็กเล็กโดยอาการมักรุนแรงขึ้น เมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อากาศร้อน หรือ อากาศแห้ง
  2. โรคหืด คือ ภาวะที่หลอดลมไวต่อสารก่อภูมแพ้หรือสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ทำให้ทางเดินหายใจบวมตีบแคบลง เกิดอาการหายใจเสียงดัง “วี๊ด” หอบแน่นหน้าอก โดยอาการมักรุนแรงขึ้นขณะออกกำลังกาย อากาศเย็น หรือติดเชื้อทางเดินหายใจ
  3. โรคภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูก เด็กจะมีอาการ จาม คัน คัดจมูก มีน้ำมูกใส เป็นเรื้อรัง หลายสัปดาห์ ในช่วงฤดูฝน หรือตลอดทั้งปี
  4. โรคภูมิแพ้เยื่อบุตา เด็กจะมีอาการ  คันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อย จนขอบตาช้ำ สีคล้ำ มักพบร่วมกับอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้

วิธีการทดสอบสารก่อภูมิแพ้

วิธีการที่แพทย์จะทำการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ในเด็ก นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายสำหรับการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้แล้ว ปัจจุบันมีการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ร่วมด้วยซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การทดสอบทางผิวหนัง การทดสอบทางจมูก (ในกรณีที่เด็กเป็นโรคภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูก)  หรือการตรวจเลือด ซึ่งปัจจุบันนิยมทำการทดสอบด้วยวิธีทดสอบทางผิวหนังเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ (Skin Prick Test)  เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว ให้ผลได้ทันที และเมื่อทราบผลแล้วจะช่วยให้เด็กและคุณพ่อคุณแม่ สามารถหลีกเลี่ยงการก่อภูมิแพ้ได้โดยตรง ส่งผลให้การรักษาโรคดีขึ้น เมื่อควบคุมโรคภูมิแพ้ได้ดีขึ้น จะส่งผลให้สามารถลดการใช้ยาลงได้อีกด้วย

 

แนวทางการป้องกันและรักษาโรคภูมิแพ้

  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อลดอาการของโรคภูมิแพ้ ทำให้ผู้ป่วยลดปริมาณการใช้ยาให้เหลือน้อยที่สุด
  • ในกรณีของโรคภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูก  แนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และใช้ยาพ่นจมูกตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในกรณีที่มีภาวะแพ้อาหาร ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ด้วย
  • พักผ่อนให้เพียงพอและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้

การรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยวัคซีนนั้นสามารถทำได้ในโรคภูมิแพ้เยื่อบุโพรงจมูกและโรคหืด โดยแพทย์จะให้สารก่อภูมิแพ้ชนิดที่ผู้ป่วยแพ้โดยวิธีการฉีดหรืออมใต้ลิ้น  เพื่อให้ร่างกายลดการตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ และอาการต่างๆของภูมิแพ้ก็จะลดลงไปด้วย โดยจะใช้ระยะเวลาในการรักษาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 3-5 ปี ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายไม่ตอบสนองกับการรักษาวิธีนี้ภายใน 1 ปีก็จะหยุดทำการรักษา

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.