B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จากการอุดกั้นในเด็ก
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จากการอุดกั้นในเด็ก
24 กุมภาพันธ์ 2021

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น คือ ภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้น ที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ ในขณะนอนหลับ ทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด และเกิดภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด ซึ่งมีผลทำให้คุณภาพของการนอนหลับลดลง ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก ควบคู่กับการนอนกรน อาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการหรือความผิดปกติของเด็กในขณะนอนหลับ ซึ่งโดยทั่วไป หากเด็กมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้น  จะสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมและอาการต่าง ๆ ที่แสดงออกมา รวมถึงประวัติและการตรวจร่างกายที่แพทย์พบ ได้แก่

  • นอนกรนบ่อยมากกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์
  • หายใจแรงกว่าปกติในขณะนอนหลับ มีหยุดหายใจแล้วตามด้วยเสียงหายใจดังเฮือก
  • ปัสสาวะรดที่นอน
  • นอนในท่านั่งหลับหรือแหงนคอขึ้น
  • ริมฝีปากเขียว
  • ปวดศีรษะตอนตื่นนอน
  • ผล็อยหลับ หรือ ง่วงเวลากลางวัน
  • มีปัญหาการเรียนและพฤติกรรม เช่น ซุกซนผิดปกติ หรือสมาธิสั้น ก้าวร้าว

โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย โดยผลการตรวจร่างกายที่พบในเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ได้แก่ น้ำหนักน้อย หรือ อ้วนกว่าเกณฑ์ ต่อมทอนซิลโต คางเล็กหรือร่นหลัง เพดานปากโค้งสูงหรือโหว่ การเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์ ความดันโลหิตสูง อาการแสดงหัวใจด้านขวาล้มเหลว เป็นต้น 

ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นาน  โดยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจจะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาในระบบร่างกาย เช่น

  1. ระบบประสาทและพฤติกรรม โดยแบ่งความผิดปกติเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มพฤติกรรมผิดปกติ  ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออกเป็นการซนมากผิดปกติ บางครั้งมีปัญหาเรื่องความตั้งใจในการทำงาน จนเข้าข่ายโรคซนสมาธิสั้นหรืออาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือหลับมากผิดปกติในช่วงกลางวัน
  2. ระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ การควบคุมความดันโลหิตผิดปกติ ความดันโลหิตสูง หัวใจห้องซ้ายหนาตัวขึ้น และหากอาการรุนแรงมีภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีความดันเลือดในปอดสูง หัวใจห้องขวาทำงานผิดปกติ และหัวใจวายในที่สุด
  3. ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ปัญหาโรคอ้วน การสะสมไขมันที่ผิดปกติ เป็นต้น

 

ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรต้องหมั่นสั่งเกตุอาการบุตรหลาน หากมีอาการหรือความผิดปกติ ต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษา หรือ ข้อแนะนำในการดูแลบุตรหลานที่เหมาะสม เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง เติบโตตามวัยต่อไป

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.