ผู้ปกครองควรสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี ระวังป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) โรคนี้พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว วิธีป้องกัน คือ ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ส่วนการรักษาส่วนใหญ่ เป็นการรักษาตามอาการ หากไม่ดีขึ้นรีบไปพบแพทย์ทันที
ในช่วงฤดูหนาวนี้ มีโอกาสพบเด็กป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ได้นั้นเนื่องจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาจมีอาการรุนแรงได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ จากข้อมูลอุบัติการณ์ของโรค RSV ในเด็ก และโรคทางเดินหายใจที่ตรวจหาเชื้อจะพบเป็น RSV มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วย โดยเฉพาะในเด็กเล็กแรกเกิด - 5 ปี อย่างไรก็ตาม การดูแลบุตรหลานให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ก็ยังมีความสำคัญมาก
การติดเชื้อ
โรคติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน
อาการ
อาการโดยทั่วไปอาจจะเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่อาการจำเพาะของเชื้อนี้ มักพบในเด็กเล็ก คือ หลอดลมฝอยอักเสบ โดยเริ่มแรกจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม ได้ยินเสียงปอดผิดปกติ เสียงหายใจมีเสียงหวีด รับประทานอาหารได้น้อย และซึมลง ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่อาการจะรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และ กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับ ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ เป็นต้น
การป้องกัน
สำหรับการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค แต่สามารถปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ดังนี้
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองขอให้สังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อและพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป ส่วนในเด็กโตและผู้ใหญ่อาการจะดีขึ้นหลังได้รับการรักษา 1-2 สัปดาห์
ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค