B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / ทำความเข้าใจ โรคสมาธิสั้นวัยเด็ก
ทำความเข้าใจ โรคสมาธิสั้นวัยเด็ก
16 กุมภาพันธ์ 2023

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) เป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งที่พบได้ตั้งแต่ในเด็กอายุ 4-5 ปีขึ้นไป และพบได้มากร้อยละ 5 ในเด็กวัยเรียน ซึ่งผู้ปกครองส่วนใหญ่จะพาเด็กๆมาพบแพทย์ด้วยปัญหาการเรียน เช่น ไม่มีสมาธิ เรียนไม่รู้เรื่อง ทำงานไม่เสร็จ หรือปัญหาทางพฤติกรรม เช่น อยู่ไม่นิ่ง เล่นรุนแรง ต่อต้าน เป็นต้น 

โรคสมาธิสั้นเกิดจากความไม่สมดุลของสาร Dopamine และ Norepinephrine  ในสมอง ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมสมาธิและจัดลำดับขั้นตอน เชื่อว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลนี้ และไม่ได้เกิดจากปัญหาในการเลี้ยงดูหรือความกดดันจากผู้ปกครองอย่างที่หลายคนเข้าใจ

 

โรคสมาธิสั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการ ได้แก่ กลุ่มอาการขาดสมาธิ (Inattention) ซึ่งมักแสดงออกมาเป็นปัญหาการเรียน และกลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง/ หุนหันพลันแล่น (Hyperactivity/ Impulsivity) ซึ่งมักแสดงออกมาเป็นปัญหาพฤติกรรม ทั้งสองกลุ่มอาการนี้เป็นแค่เพียงปัญหาเบื้องต้นที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการในด้านอื่น ๆ เช่น ขาดความมั่นใจในตัวเอง ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวรวมไปถึงโรงเรียน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องประเมินเด็กที่มีอาการเหล่านี้ เพราะการ วินิจฉัยตั้งแต่อายุน้อยป้องกันการเกิดสมาธิสั้นในอนาคตได้

 

การวินิจฉัยโรค…ทำอย่างไร ?

การวินิจฉัยโรค สามารถทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และแพทย์ทางด้านพัฒนาการและการเจริญเติบโตเด็ก แพทย์จะดำเนินการประเมินปัญหาในแต่ละด้าน โดยการวินิจฉัยโรคนั้น สามารถทำได้ง่ายผ่านการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง และเด็ก แพทย์อาจมีการประเมินพฤติกรรมที่โรงเรียนจากการสอบถามคุณครู หรือประเมินระดับสติปัญญา (IQ test) โดยนักจิตวิทยาคลินิก ซึ่งแพทย์จะพิจารณาความจำเป็นในเด็กแต่ละบุคคลต่างกันออกไป ทั้งหมดนี้เพื่อการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องรวมไปถึงอาจพบอาการคล้ายโรคสมาธิสั้น เช่น โรคทางระบบประสาทอื่น ๆ หรือความวิตกกังวลอีกด้วย

 

การรักษาอาการสมาธิสั้นในเด็ก มีอะไรบ้าง

การรักษาโรคสมาธิสั้น ประกอบด้วยการปรับพฤติกรรม และการรักษาด้วยยา 

  1. การรักษาด้วยยา เป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากให้ผลรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย และสามารถทำควบคู่กับการปรับพฤติกรรมได้ ยารักษาโรคสมาธิสั้นมีหลายชนิดซึ่งผลในการรักษาขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของอาการ กลุ่มอาการของโรค หรือโรคอื่น ๆ ที่สามารถพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น แพทย์จะประเมินความจำเป็นในการใช้ยาอย่างรอบคอบ และวางแผนติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องหลังได้รับยา
  2. การปรับพฤติกรรม (Behavioral modification) การปรับพฤติกรรมในเด็กสมาธิสั้นต้องใช้ระยะเวลานาน ค่อยเป็นค่อยไป และต้องทำอย่างสม่ำเสมอโดยมีแพทย์คอยให้คำปรึกษาในแต่ละขั้นตอน ซึ่งเด็กสมาธิสั้นมักมีลักษณะซุกซนมาก อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ และไม่รู้จักวางแผน อาจทำให้เกิดปัญหาต่อการเรียน การคบเพื่อน และการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน อาจทำให้ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กสมาธิสั้นเป็นกังวล อย่างไรก็ตามเด็กสมาธิสั้นนั้นสามารถพัฒนาตนเองได้เช่นเดียวกับเด็กทั่วไป 

 

วิธีการปรับพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้น

  1. หาสถานที่เงียบ ๆ ให้เด็กทำกิจกรรม อาจเป็นห้องที่เงียบปราศจากการรบกวนจากผู้อื่น หรือพวกเสียงจากโทรทัศน์ เป็นต้น
  2. แบ่งขั้นตอนการทำงาน หรือการแบ่งทำกิจกรรมบางอย่างในสั้นลง โดยเด็กสมาธิสั้นไม่สามารถทำอะไรเป็นระยะเวลานาน การแบ่งย่อยขั้นตอนการทำงานจะช่วยให้ทำงานได้สำเร็จดียิ่งขึ้น
  3. การใช้เวลากันแบบตัวต่อตัวกับเด็กสมาธิสั้น เช่น การนั่งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือการถามเป็นระยะ ไม่ให้เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นนั้นรู้สึกเคว้งคว้าง
  4. การหัดให้นั่งทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และหากเด็กสามารถนั่งได้ตามเวลาที่กำหนด ควรให้คำชื่นชม และเพิ่มเวลาขึ้นอีกเล็กน้อยในครั้งต่อไป
  5. พานั่งสมาธิสำหรับเด็กโต โดยการฝึกให้นั่งสงบ หลับตา และกำหนดลมหายใจเพื่อเด็กสมาธิสั้นนิ่งขึ้น
  6. ให้ทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานอย่างสร้างสรรค์ เช่น การออกกำลังกาย และการออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างสมาธิดีขึ้น ได้แก่ การวิ่ง ว่ายน้ำ เพราะเป็นการออกกำลังกายที่กระทำคนเดียวไม่มีคนอื่นมาทำให้วอกแวก
  7. เพิ่มกิจกรรมสร้างสมาธิที่หลากหลาย  โดยให้ฝึกทั้งกิจกรรมที่ใช้การเคลื่อนไหวมาก เช่น เล่นกีฬา และ กิจกรรมที่เคลื่อนไหวน้อย เช่น การวาดรูประบายสี เป็นต้น
  8. การกำหนดจุดสนใจ โดยการสอนให้เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นสังเกตจุดเด่นของสถานที่ หรือวัตถุต่างๆ 

 

อย่างไรก็ตามโรคสมาธิสั้นไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่การวินิจฉัยและได้รับการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้ได้ผลดี อีกทั้งสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผลที่รุนแรงในอนาคต เช่น หนีโรงเรียน ติดยาเสพติด เป็นต้น นอกจากความรัก ความเอาใจใส่จากผู้ปกครองที่จะช่วยเอาชนะโรคสมาธิสั้นในเด็กได้ หากผู้ปกครองเริ่มสังเกตเห็นอาการต่างๆ จากลูกหลาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือนัดหมายล่วงหน้า

 

ศูนย์พัฒนาการและการเรียนรู้สำหรับเด็ก ชั้น 1 อาคารสมสราญ

โทร 02 532 4444 ต่อ 1135, 1143

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.