เตรียมความพร้อมลูกน้อยก่อนเข้าเรียน ทั้งวัยอนุบาล และประถม
24 พฤษภาคม 2023
ก่อนเปิดภาคเรียน พ่อแม่ หรือผู้ปกครองหลายๆ ท่าน มักมีความกังวลเรื่องการเตรียมตัวลูกๆ หรือบุตรหลานก่อนเข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลใจด้านการเข้าสังคม การปรับตัว การเรียน หรือพัฒนาการของเด็กเอง วันนี้จึงอยากนำสาระดีๆ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครอง เพื่อใช้เป็นแนวคิด หรือแนวทางปฏิบัติก่อนส่งลูกเข้าโรงเรียน
สิ่งที่ต้องฝึกฝนเตรียมลูก...ก่อนไปโรงเรียน
- การช่วยเหลือตนเอง ลูกควรช่วยเหลือตัวเองได้ในเรื่องพื้นฐาน เช่น การติดกระดุม การถอดเสื้อ กางเกง การเข้าห้องน้ำ การกินข้าว การแปรงฟัน การอาบน้ำเช็ดตัว เป็นต้น
- การเล่นกับผู้อื่น พ่อแม่ควรเตรียมฝึกฝนการเล่นของลูกในขั้นพื้นฐาน ให้เด็กเรียนรู้วิธีการเล่นและฝึกให้เล่นอยู่ในกติกา
- ความสัมพันธ์ระหว่างมือกับดวงตา การใช้ชีวิตในโรงเรียนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนจำเป็นต้องอาศัยรากฐานการใช้มือที่ดีในการเขียนหนังสือ วาดรูป ระบายสี พับกระดาษ ต้องมีการทำงานประสานกันระหว่างมือกับดวงตา และมือสองข้างต้องช่วยกันทำงานร่วมกันได้
- การใช้กล้ามเนื้อใหญ่ ส่งเสริมการออกกำลังกายและการเล่นกลางสนาม เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อแขนและขาแข็งแรงทำงานได้คล่อง
- การพูดและการสื่อภาษา เมื่ออายุ 3 ปี เด็กจะมีความสามารถนำคำต่างๆ มาผสมจนพูดออกมารู้เรื่องสร้างประโยค นอกจากพ่อแม่และคุณครูจะฝึกสอนให้พูดเป็นแล้วยังต้องฝึกให้เด็กกล้าพูดด้วย
- การจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง เช่น ความกังวลในการพลัดพรากจากคนที่รักเป็นความกังวล
- การปรับตัว การไปโรงเรียนเป็นแบบฝึกหัดที่ใหญ่สำหรับชีวิตเด็ก พ่อแม่ควรสังเกตบรรยากาศของโรงเรียน และสร้างความเในการปรับตัว ปรับใจให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ของเด็กได้ในที่สุด
คำแนะนำการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน (วัยอนุบาล)
- ส่งเสริมความพร้อมของครอบครัว พ่อแม่ควรให้ความรัก ความผูกพัน และความไว้วางใจ เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เด็กเชื่อฟัง และปฏิบัติตามที่พ่อแม่สอน เพราะเด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวจากการสังเกตและเลียนแบบพ่อแม่
- การส่งเสริมสุขนิสัยที่ดี ฝึกให้เด็กจัดการกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง ให้เด็กแปรงฟันด้วยยาสีฟันเด็กอย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง รวมถึงการออกกำลังกาย
- การส่งเสริมสุขนิสัยการนอนที่ดี สร้างบรรยากาศการเข้านอนที่สงบ มีวินัยตามเวลา โดยผ่านกิจกรรมการอ่านหนังสือนิทานกับเด็ก จัดให้นอน 11-12 ชั่วโมง/วัน และนอนกลางวัน
- การส่งเสริมสุขนิสัยด้านอาหาร โดยเน้นอาหารที่เหมาะสมกับวัย เน้นอาหาร 5 หมู่เป็นอาหารหลัก 3 มื้อ ร่วมกับดื่มนมสดรสจืด เป็นอาหารเสริมวันละ 2-3 แก้วหรือกล่อง
- คำแนะนำเพื่อความปลอดภัย เช่น ให้เด็กนั่งเบาะหลังและมีการใช้ที่นั่งนิรภัยที่เหมาะกับวัย และห้ามทิ้งเด็กไว้ในรถตามลำพังโดยเด็ดขาด รวมถึงสอนเด็กให้ระวังคนแปลกหน้า สอนเด็กให้ระวังอันตรายขณะข้ามถนน ใช้สื่อผ่านจอทุกชนิดรวมแล้วไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การป้องกันตัวเองจากการถูกล่วงละเมิด
คำแนะนำการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน (วัยประถม)
เนื่องจากประถมเป็นวัยที่เข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาการพร้อมทุกด้านทั้งด้านการสื่อสาร การเคลื่อนไหว การช่วยเหลือตนเอง การควบคุมอารมณ์ และเรียนรู้รอบด้าน ดังนั้นการเตรียมเด็กวัยประถมให้พร้อมเข้าโรงเรียนจึงมีความสำคัญ ครู และพ่อแม่ จะต้องช่วยฝึกฝนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและต้องเข้าใจความรู้สึกของเด็ก ให้กำลังใจและคอยสนับสนุนให้เด็กได้เติบโตและปรับตนเองเพื่อการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งเด็กวัยนี้มีความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้น เด็กจะใช้เวลาอยู่กับเพื่อนและทำกิจกรรมนอกบ้านนานขึ้น อิทธิพลของกลุ่มเพื่อนจะเริ่มมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กทั้งเชิงบวกและลบ เช่นนี้แล้ว...สำหรับเด็กประถม ขอแนะนำการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน ดังนี้
- พ่อแม่ต้องรักเอาใจใส่ต่อตัวลูก ตอบสนองพอเหมาะ สนใจต่อการปรับตัวที่โรงเรียน
- ปรับกฎเกณฑ์กติกาให้เหมาะสมตามวัยและให้ใกล้เคียงกับโรงเรียน
- ให้ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น ฝึกฝนเรื่องความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่องานบ้านและการเรียน
- ฝึกฝนให้มีความอดทน อดกลั้น การตรงต่อเวลา รักการอ่าน
- ฝึกฝนเด็กให้เข้าใจอารมณ์ตนเองและการควบคุมอารมณ์ โกรธ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
- การทานอาหารเช้าที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเรียนรู้
- ดื่มนมจืดไขมันต่ำ 2-3 แก้วหรือกล่อง/วัน เพื่อให้ได้แคลเซียมที่เพียงพอ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันหรือมีกิจกรรมที่ออกแรงอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
- สนับสนุน ช่วยเหลือด้านการเรียน ให้แบ่งเวลาเรียนให้เหมาะสม แนะนำวิธีจัดการความเครียด
- กำหนดเวลาดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ และ จออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน โดยเลือกรายการให้เหมาะสมกับวัย นั่งดูร่วมกับเด็กและ มีการพูดคุยชี้แนะ
- สอนให้เด็กว่ายน้ำและให้รู้จักประเมินความ
- ฝึกให้ขี่จักรยานและส่งเสริมการใช้หมวกนิรภัยทุกครั้งที่ใช้จักรยาน
- สอนให้เด็กป้องกันตัวและบอกพ่อแม่หรือ ครู เมื่อมีผู้อื่นมากระทำให้บาดเจ็บหรือปฏิบัติโดยมิชอบต่อร่างกาย เช่น การคุกคามหรือการถูกล่วงละเมิด เป็นต้น
- แนะนำเรื่องโทษของสารเสพติด
ลูกๆ ของคุณไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใด การใช้ชีวิตและอุปนิสัยของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง คุณครู ควรเรียนรู้ไปกับเด็ก และอยู่เคียงข้าง คอยสนับสนุนให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ