9 โรคร้ายที่ต้องระวัง ช่วงหน้าร้อน
29 มีนาคม 2023
ประเทศไทยในช่วงเมษายน ไปถึงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี ไม่เพียงแต่จะมีอุณหภูมิของอากาศที่ร้อนระอุเท่านั้น แต่ยังทำให้อาหาร น้ำดื่มปนเปื้อนเชื้อโรค และอาหารเสียได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากอากาศร้อนผู้คนมักจะเจ็บไข้ได้ป่วยกันโดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหารและโรคระบบทางเดินหายใจ ถือว่าเป็นภัยสุขภาพที่ต้องระวังในช่วงหน้าร้อนนี้ มีโรคอะไรบ้างไปดูกัน
- โรคอุจจาระร่วง โรคนี้เกิดจากเชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และหนอนพยาธิ สามารถติดต่อได้โดยการทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกปนเลือด ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก และหมดสติ อีกทั้งหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
- โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมาก และมักเกิดขึ้นในเวลารวดเร็วหลังจากทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป มักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไข่เป็ด ไข่ไก่ อาหารทะเล ฯลฯ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจมีถ่ายเหลวเป็นน้ำ มักไม่มีไข้ หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจดื่มหรือให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง
- โรคบิด ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเป็นมูกปนเลือดบ่อยครั้ง ร่วมกับอาการปวดเบ่งที่ทวารหนัก คล้ายถ่ายไม่สุด โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigellosis) หรือบิดไม่มีตัว และเชื้ออะมีบา (Amebiasis) หรือบิดมีตัว
- ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการทานอาหารหรือน้ำที่ถูกปนเปื้อน อาหารส่วนใหญ่ที่มักพบว่าทำให้เกิดโรค คือ อาหารหรือผลิตภัณฑ์จากนม หอย ไข่ เนื้อสัตว์ น้ำ และอาหารอื่นๆ ที่ถูกปนเปื้อน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้สัปดาห์แรกไข้มักไม่สูง อาจมีอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีหนาวสั่นได้ มีอาการซึมและอาจเพ้อ
- อหิวาตกโรค (Cholera) เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio Cholerae) เข้าสู่ร่างกายโดยการทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้ออหิวาตกโรค หรือพิษของเชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ เช่น อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารสุกๆ ดิบๆ เชื้อโรคจะสร้างพิษออกมาทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็กทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
- โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ปวดหัว ตัวร้อน ไอจาม ทั้งนี้ เพราะอากาศเปลี่ยนไปมาหรืออยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ร่วมกับร่างกายที่อ่อนแอ เมื่อรู้สึกตัวว่าเป็นหวัดให้พักผ่อน ดื่มน้ำให้มากๆ และแยกนอนร่วมกับผู้อื่น หากยังไม่ดีขึ้นควรเข้าไปพบแพทย์
- โรคผิวหนัง ในหน้าร้อนอาจทำให้เราเกิดเม็ด ผดผื่นคัน สามารถป้องกันได้ด้วยการอาบน้ำชำระร่างกายและรักษาความสะอาดบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรกหรือน้ำที่ไม่สะอาด
- โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่งที่มีสุนัขเป็นพาหะหลักที่นำเชื้อไวรัสมาสู่คน โดยการที่สุนัขบ้า กัด ข่วน หรือเลียผิวหนังของคนมีแผล เชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้านี้เมื่อมีอาการของโรคแล้วจะเสียชีวิตทุกราย แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ที่สำคัญควรนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนเพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกคน
- โรคเครียด เป็นปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในหน้าร้อน ทำให้เกิดอาการปวดหัว นอนไม่หลับ โมโหและหงุดหงิดง่าย จนกระทบไปถึงความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง วิธีคลายเครียดง่ายๆ คือ หนีร้อนไปอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นสบาย เช่น ในห้องแอร์ ใต้ร่มไม้ หางานอดิเรกทำ หรือฝึกนั่งสมาธิ เป็นต้น
โรคในช่วงหน้าร้อนป้องกันได้ ดังนี้
- เลือกทานอาหาร-น้ำดื่ม เน้นความสดใหม่และสะอาด
- หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพราะอากาศร้อนมากเป็นพิเศษ อาจทำให้มีการเผาผลาญมากเกินจนเกิดผลเสีย
- ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ว่าที่บ้านหรือที่ทำงาน อากาศต้องถ่ายเทสะดวก สำหรับห้องแอร์ก็ควรเย็นอย่างพอเหมาะด้วยอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ไม่อย่างนั้นเมื่อออกไปข้างนอกห้องอาจทำให้เกิดอาการวูบได้ง่ายๆ
- การอยู่บ้านเป็นหนึ่งในการป้องกันได้ ไม่ต้องกลัวโรคลมแดด แต่หากจำเป็นควร สวมหมวก หรือกางร่ม
- งดแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มมึนเมาในสภาพอากาศร้อนแบบนี้ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันถึงขั้นเกิดภาวะช็อกได้
ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงโรคต่างๆ ในหน้าร้อนนี้ ได้แก่ การเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม หากยังไม่ทานก็ต้องเก็บในตู้เย็นหรืออุ่นให้ร้อนก่อนทาน ใช้ช้อนกลางในการทานอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำ และสุดท้ายคือการดื่มน้ำที่สะอาดนั่นเอง เช่น น้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. หรือน้ำต้มสุก เป็นต้น