B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / ท้องผูกเรื้อรัง รีบแก้ไขก่อนเป็นริดสีดวง
ท้องผูกเรื้อรัง รีบแก้ไขก่อนเป็นริดสีดวง
27 กันยายน 2024

อาการแบบไหนเข้าข่าย “โรคท้องผูก”

  • ขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์
  • อุจจาระแข็ง
  • เบ่งถ่ายยาก ใช้เวลาเบ่งถ่ายนาน
  • เจ็บปวดเวลาเบ่งถ่าย หรืออุจจาระมีเลือดปนออกมา
  • มีความรู้สึกว่าถ่ายอุจจาระออกไม่หมด

สาเหตุการเกิด “ท้องผูกเรื้อรัง” คืออะไร

  1. การปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย กลั้นอุจจาระบ่อยๆ เป็นต้น
  2. ลำไส้อุดตัน เช่น เนื้องอกบริเวณลำไส้ใหญ่ พังผืดรัดลำไส้ในช่องท้องหลังผ่าตัด เป็นต้น
  3. การทำงานของลำไส้ผิดปกติ ได้แก่ ลำไส้ทำงานน้อย, โรคลำไส้แปรปรวน, ลำไส้เคลื่อนที่ผิดปกติหรือกล้ามเนื้อหูรูดที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ ทำให้ถ่ายอุจจาระยาก ต้องเบ่งมาก 
  4. การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ท้องผูก เช่น  ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาลดความดันโลหิต ยาลดกรด เป็นต้น

วิธีการตรวจวินิจฉัย “ท้องผูกเรื้อรัง” เป็นอย่างไร

  • แพทย์ซักประวัติ และตรวจร่างกายทั่วไป
  • ตรวจทวารหนัก (Rectal Examination) เพื่อดูทวารหนักและผิวหนังรอบๆ ว่ามีแผล มีการอักเสบ หรือมีก้อนหรือไม่
  • ตรวจเลือดเฉพาะบางรายที่แพทย์สงสัยว่าจะเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือแคลเซียมในเลือดสูง
  • ส่องกล้องตรวจภายในลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อแยกภาวะอุดกั้นหรือตีบแคบของลำไส้  โดยสามารถตรวจหาก้อนในลำไส้ และตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำ
  • ตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ และกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดที่ใช้ในการขับถ่าย

ท้องผูกเรื้อรังรักษาได้อย่างไร

  1. ฝึกการขับถ่าย (biofeedback training) เป็นการฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งถ่ายให้ทำงานถูกต้องในระยะยาว โดยจะฝึกทั้งหมด 6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 – 40 นาที
  2. ปรับพฤติกรรม ได้แก่ นั่งขับถ่ายในท่านั่งที่เหมาะสม รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ
  3. การใช้ยาระบาย ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ผู้ที่มีอาการท้องผูกไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด
  4. ผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออก ใช้กรณีที่ผู้ป่วยท้องผูกจากภาวะที่ลำไส้เคลื่อนไหวช้าและรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล รวมถึงมีความผิดปกติชัดเจนของกล้ามเนื้อและระบบประสาทของลำไส้

การกินยาระบายช่วยดีท็อกลำไส้ได้จริงไหม

ยาระบาย มีฤทธิ์ช่วยดึงน้ำออกจากผนังลำไส้ ส่งผลให้เนื้ออุจจาระนิ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย โดยที่ยาระบายไม่สามารถชะล้างสารพิษที่สะสมตามผนังลำไส้หรือในร่างกายออกไปได้ หากผู้ป่วยใช้ยาระบายบ่อยๆ อาจทำให้เกิดปัญหาภาวะลำไส้ขี้เกียจ (Lazy Bowel) ตามมา ส่งผลให้ไม่สามารถขับถ่ายได้เอง ดังนั้น แนะนำใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้องและเหมาะสมจะดีกว่า

ท้องผูกเรื้อรัง ส่งผลให้เป็นริดสีดวงทวารหนักได้จริงหรือไม่

ริดสีดวงทวารหนัก สาเหตุมักเกิดจากท้องผูกเรื้อรัง พฤติกรรมเบ่งถ่าย เข้าห้องน้ำนาน การตั้งครรภ์ โรคบางอย่าง เช่น ตับแข็ง ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น เป็นโรคที่พบได้บ่อยและสังเกตได้ยาก แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ริดสีดวงภายนอกและริดสีดวงภายในตามตำแหน่งของริดสีดวง เกิดจากการโป่งหรือพองของกลุ่มหลอดเลือดดำ หรือหลอดเลือดขอดที่อยู่ใต้ผิวของเยื่อบุผนังบริเวณทวารหนัก จำเป็นจะต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อดูแลรักษาให้ถูกต้อง

อาการเตือนสำคัญที่คุณควรรีบมาพบแพทย์

  • มีอาการซีด
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือมีมูกเลือด หรืออุจจาระดำ
  • น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ (เมื่ออายุ 40 ปี ควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่)
  • ท้องผูกและมีอาการปวดท้องมาก ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน

ท้องผูกเรื้อรัง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาจะส่งผลเสียอย่างไร

ส่งผลให้มีอาการหงุดหงิด ไม่สดชื่น รับประทานอาหารไม่ลง อืดแน่นท้อง มีสิวขึ้น และแสบร้อนบริเวณหน้าอกได้ นำไปสู่ความเสี่ยงอย่างโรคหัวใจกำเริบ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะขณะเบ่งถ่าย ไส้เลื่อน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ริดสีดวงทวาร แผลปริรอบขอบทวาร หรือฝีคัณฑสูตร ลำไส้ผิดปกติ โป่งพอง ย้วย หรือร้ายแรงจนลำไส้อุดตัน เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.