โรคไวรัสตับอักเสบ บี สาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี (HBV) การติดเชื้อนี้อาจนำไปสู่โรคร้ายที่เป็นอันตรายต่อตับและชีวิตได้ เช่น ตับวาย ตับแข็ง และ มะเร็งตับ โดยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางสารคัดหลั่งที่มาจากร่างกาย เช่น ติดต่อได้ทางเลือด (การรับเลือดและผลิตภัณฑ์ของเลือด) ติดต่อผ่านเข็มฉีดยา การฝังเข็ม หรืออุปกรณ์ที่มีเชื้อปนเปื้อน หรือติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ทางสารคัดหลั่ง
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ บี
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพบว่ามีอาการของโรคไวรัสตับอักเสบ บี เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 1-3 เดือนแรกหลังจากที่ได้รับเชื้อ และส่วนใหญ่ร้อยละ 90-95 ก็สามารถหายเป็นปกติ จากการที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้น ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้อีกในอนาคต ส่วนรายที่ไม่สามารถหายเองได้ร้อยละ 5-10 ส่วนใหญ่แล้วจะไม่พบว่ามีอาการแสดง ซึ่งหากผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแสดงสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ อาการที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ตามที่ได้กล่าวไป จะเริ่มเกิดขึ้นในช่วง 1-3 เดือนแรก ซึ่งในระยะนี้จะเรียกว่าระยะเฉียบพลัน โดยในระยะนี้จะยังไม่ค่อยพบว่ามีอาการที่รุนแรงน่ากังวลมากนัก แต่หากการติดเชื้อดำเนินต่อไปเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งก็คือระยะเรื้อรัง ตับอักเสบเฉียบพลันกับเรื้อรังใช้เวลาตัดกันที่ 6 เดือน โดยระยะเรื้อรังอาจพบภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งอาการก็จะแตกต่างกันออกไป ทั้งระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรังสามารถพบอาการได้ตั้งแต่เป็นน้อยจนเป็นรุนแรง โดยจะขึ้นอยู่กับระดับการอักเสบของตับ
การรักษาโรค
การรักษาโรคแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ระยะเฉียบพลันและระยะเรื้อรัง เมื่อมีการวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบ บี ระยะเฉียบพลัน ซึ่งสามารถหายได้เอง แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีโภชนาการสูง และดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ เพราะร่างกายกำลังต่อสู้ในการกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ หากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี ระยะเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงที่ทาให้เป็นโรคตับที่รุนแรง และป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยการรักษานั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วย การรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส ยาอินเตอร์เฟอรอน หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคไวรัสตับอีกเสบ บี จะเกิดในระยะเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรค ที่ร้ายแรงขึ้นได้ เช่น โรคตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ ซึ่งโรคเหล่านี้เกิดจากการที่เซลล์ตับค่อย ๆ ถูกทำลายลงไป หรือจนตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และอาจจะต้องทำการเปลี่ยนตับหรือปลูกถ่ายตับใหม่
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี
การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี สามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยควรฉีดตั้งแต่ในวัยเด็กแรกเกิด เรายังสามารถป้องกันและระมัดระวังด้วยตัวเองได้ เช่น การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่กังวลหรือเครียดจนเกินไป สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หรือหากต้องการเจาะหูหรือสักลาย ควรเลือกร้านที่น่าเชื่อถือถูกหลักอนามัย
ที่มา : คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข