B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / รู้หรือไม่ อาการปวดท้อง อาจเป็นสัญญาณเตือน อันตรายจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
รู้หรือไม่ อาการปวดท้อง อาจเป็นสัญญาณเตือน อันตรายจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
21 กรกฎาคม 2021

มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พบได้ไม่บ่อยนักในคนไทย แต่มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากละเลย ไม่ใส่ใจ ทำให้มะเร็งลุกลามจนอาการปรากฏชัดเจน เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลด ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงควรพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คร่างกาย ซึ่งหากเป็นระยะแรก ๆ ก็จะรักษาให้หายขาดหรือมีชีวิตยืนยาวได้

 

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

  1. พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น พ่อแม่พี่น้องสายตรงป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้ ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติพันธุกรรมของโรคนี้ในครอบครัว
  2. มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังบางชนิด หรือเป็นโรคแผลกระเพาะอาหาร จากการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี (Helicobacterpylori)
  3. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
  4. ทานอาหารรสเค็มจัด อาหารหมักดอง ปิ้งย่าง รมควัน หรืออาหารที่ใส่สารดินประสิว เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง เนื้อเค็มตากแห้ง
  5. ทานผักและผลไม้น้อย
  6. มีประวัติ เคยผ่าตัดกระเพาะอาหารมานานกว่า 20 ปี

 

อาการ

  • ระยะเริ่มแรก ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อมีการลุกลามของมะเร็งมากขึ้นจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นท้องตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่คล้ายกับอาการแสดงของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ก็อาจเกิดอาการที่รุนแรงตามมา ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำได้ก้อนต่อมน้ำเหลืองที่แองไหปลาร้าข้างซ้าย
  • อาการของโรคแทรกซ้อนจากการลุกลามของมะเร็ง เช่น ดีซ่านหรือตาเหลือง ปวดท้อง อาเจียน เนื่องจากก้อนมะเร็งอุดตัน ที่ลำไส้เล็กส่วนตัน หายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมะเร็งลุกลามไปที่ปอด เป็นต้น

 

การวินิจฉัย

  • โดยการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งจะสามารถเห็นสภาพภายในกระเพาะอาหารได้ทั้งหมด และสามารถตัดชิ้นเนื้อบนผิวกระเพาะอาหารไปพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการได้
  • โดยการเอกซ์เรย์กลืนแป้ง เพื่อดูความผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เมื่อพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เพื่อประเมินว่า มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ หรือไม่

 

การรักษา

ประกอบด้วยการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด หรือการฉายรังสีรักษา ซึ่งการรักษาจะใช้วิธีการใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค

  • มะเร็งกระเพาะอาหารระยะเริ่มต้น รักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหารส่วนที่เป็นมะเร็งออก และอาจให้ยาเคมีบำบัดเสริม หลังผ่าตัด เพื่อเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ในร่างกายที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าขณะทำผ่าตัด จุดประสงค์ของการรักษา ในระยะนี้มุ่งหวังให้โรคหายขาด ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
  • มะเร็งกระเพาะอาหารระยะลุกลาม รักษาด้วยการให้เคมีบำบัดเป็นหลัก อาจร่วมกับการฉายแสงในบางครั้ง ส่วนการผ่าตัดจะทำเพื่อแก้ไขภาวะแทรกซ้อน เช่น ก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินอาหารทางเดินน้ำดี จุดประสงค์ของการรักษาในระยะนี้ ทำเพื่อป้องกันหรือบรรเทาภาวะแทรกซ้อน เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้น

 

ข้อควรปฏิบัติ

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง  หรือติดเชื้อเฮลิ-โคแบกเทอร์ไพโลรี ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ ผู้ที่มีอาการคล้ายโรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือมีแผล ในกระเพาะอาหารหลังจากรับประทานยาติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือหลังจากทานยาครบ 6 -8 สัปดาห์แล้วมีอาการกำเริบขึ้นมาใหม่ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ในการปวดแต่ละครั้งมีอาการนานเกินกว่า 4 ชั่วโมง ถ่ายอุจจาระมีสีดำ เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด อย่างใดอย่างหนึ่ง ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหาร

 

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร

  • เสริมสร้างกำลังใจให้แข็งแรง ด้วยการทำจิตใจให้สดชื่น ไม่ท้อแท้ หดหู่ ต่อสู้และยอมรับกับความจริง
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ไม่ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • เพิ่มผักผลไม้ และดื่มน้ำสะอาด
  • ออกกำลังกายให้พอควรเป็นประจำ
  • ตรวจติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องตามนัด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

 

ที่มา : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik

 

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.