วัคซีนที่ควรได้รับในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19
09 มิถุนายน 2021
ในช่วงเวลานี้สิ่งที่หลายๆ คนรอคอยคงจะเป็นการได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 อย่างเร็วที่สุด เพราะเป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และชีวิตของทั้งคนไทยและทั่วโลก แต่ความจริงแล้วยังมีวัคซีนอื่นที่ควรจะฉีดนอกเหนือจากวัคซีนCOVID-19
ทำไมต้องฉีดวัคซีนอื่นๆ ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19
จากคําแนะนําการให้บริการวัคซีนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำว่า “ทุกคนควรจะได้รับวัคซีนให้ได้ใกล้เคียงภาวะปกติมากที่สุด เพราะการเลื่อนการฉีดวัคซีนไป อาจทําให้โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น โรคหัด โรคโปลิโอ และ ไข้หวัดใหญ่ ให้กลับมาระบาดได้ และส่งผลให้ภาระของระบบบริการทางสาธารณสุขที่ตึงเครียดจาก COVID-19 อยู่แล้ว มีมากขึ้นไปอีก”
ดังนั้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรได้รับวัคซีนให้เป็นไปได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติที่สุด 2
ข้อดีของการได้รับวัคซีนตามกำหนด2
- จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งอาจทําให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
- ลดโอกาสเกิดโรคติดเชื้อร่วม (co-infection) กับ COVID-19 เช่น ไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส
- ลดภาระของระบบสาธารณสุขในภาพรวม
แต่การเดินทางจากที่อยู่อาศัยมารับวัคซีนอาจมีความเสี่ยงต่อการติด COVID-19 ทั้งระหว่างการเดินทางและขณะที่อยู่ที่สถานพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ทุกคนอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ช่วงเวลาในการให้วัคซีนส่วนใหญ่จึงยังสามารถยืดหยุ่นได้ เช่น วัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็ก สามารถเลื่อนได้ 1 สัปดาห์ -1 เดือน แต่หากไม่สามารถมารับวัคซีนได้ตามกำหนด ก็ควรรีบมาฉีดให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
วัคซีนที่ควรต้องฉีดตามกำหนด
ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก1 สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย2
แนะนำในทิศทางเดียวกันว่าไม่ควรเลื่อนฉีดวัคซีนเหล่านี้ คือ
- วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังสัมผัสโรค เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคบาดทะยัก โรคหัด โรค อีสุกอีใส และโรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้น อย่างเช่นถ้าโดนสัตว์กัด การไม่ฉีดวัคซีนทันทีอาจจะเสี่ยงที่จะติดเชื้อจนมีอันตรายต่อชีวิตได้
- วัคซีนสําหรับทารกแรกเกิด ได้แก่ วัคซีนบีซีจี และวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี เข็มแรกเกิด ควรฉีดให้ทารกแรกคลอดที่เกิดหรือเข้ารับบริการในโรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน เพราะเด็กแรกเกิดภูมิต้านทานยังไม่สมบูรณ์ เสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก
- วัคซีนในผู้ใหญ่ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส (วัคซีน IPD) และ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคทั้งสอง 2
- เพราะไวรัสอย่าง COVID-19 หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดทุกปี ตัวไวรัสจะไปทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจของผู้ป่วย จนทำให้อ่อนแอลงและเกิดการติดเชื้ออื่นๆอย่างเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเข้ามาได้ง่ายขึ้น
- พบการติดเชื้อนิวโมคอคคัสแทรกซ้อนในผู้ป่วย COVID-19 มากถึง 59.5% ในประเทศจีน (จากการเก็บข้อมูลในคนไข้โควิด-19 257 คน ในจังหวัด Jiangsu ตั้งแต่ 22 มค – 2 กพ 2020)8
- โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส และ ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อได้ง่าย โดยเราอาจรับเชื้อจากการสัมผัสละอองการไอและจามของผู้ป่วย ทั้งสองโรคนี้มีอาการคล้ายคลึงกับโรคCOVID-19 คือ ไข้สูง ไอ หอบ หายใจลำบาก ปวดหัว หนาวสั่น เจ็บจอ3,4,5 ซึ่งค่อนข้างแยกออกจากโรค COVID-19 ได้ยาก หากต้องการทราบว่าเป็นโรคอะไรแน่ชัดควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เพิ่มเติม
- โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านเหมือนไข้หวัดทั่วไปได้ เป็นโรคที่มีความรุนแรง บางรายมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด6 ผู้ป่วยมักต้องนอนรักษาตัวในรพ.นานเป็นสัปดาห์ อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือนอนในห้อง ICU7
ดังนั้นหากป้องกันโรคเหล่านี้ได้ด้วยวัคซีน อย่าลังเลเลยที่จะฉีด
วัคซีนในผู้ใหญ่ที่นี้มีความปลอดภัยหรือไม่
ทั้งวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกมานาน อาการข้างเคียงที่พบได้ เช่น ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด หรืออาจมีไข้ได้ มีข้อห้ามใช้กรณีที่ผู้ป่วยแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน
ผู้ใหญ่กลุ่มไหนที่ควรฉีดวัคซีนก่อน
กลุ่มเสี่ยงสูงในการติดเชื้อปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส และไข้หวัดใหญ่ มีความคล้ายคลึงกับกลุ่มที่เสี่ยงจะมีอาการรุนแรงจากเชื้อ COVID-19 4,6 ได้แก่
- ผู้สูงอายุ วัย 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคปอด โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
ฉีดอย่างไร
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่: ฉีด 1 เข็ม ทุกปี9
- วัคซีนโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัส: ฉีดวัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ก่อน9 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้สูง10และอยู่นาน11 แล้วเว้นระยะห่าง 1 ปี ฉีดวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์9
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสสามารถฉีดวันเดียวกันได้
หากผู้ใหญ่ฉีดวัคซีน 2 ชนิดนี้ไปแล้ว จะฉีดวัคซีน COVID-19 ได้หรือไม่
- ได้ โดยเว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีน COVID-19 อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์12
โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
ถึงเวลายกการ์ดให้สูง เพราะปอดอักเสบน่ากลัวการป้องกันตัวจึงสำคัญ
Reference
- WHO (European Region). Guidance on routine immunization services during COVID-19 pandemic in the WHO European Region, 2020.
- นพ.ทรงภูมิ อธิภูกนก, ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ. คำแนะนำการให้บริการวัคซีนในช่วงสถานการ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19). สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. 2020; 1-5
- WHO. Coronavirus disease (COVID-19). 2020. Accessed 12 May 2021. Coronavirus disease (COVID-19) (who.int)
- CDC. Influenza (Flu). Access 12 May 2021. https://www.cdc.gov/flu/highrisk/index.htm
- CDC.Pneumococcal Disease. Access 12 May 2021. https://www.cdc.gov/pneumococcal/about/risk-transmission.html
- Ruiz LA, Zalacain R, Capelastegui A. Bacteremic Pneumococcal Pneumonia in Elderly and Very Elderly Patients. J Gerontol A Biol Sci Med Sci. 2014; 69(8):1018–1024.
- Ostermann H, et al. Resource use by patients hospitalized with community-acquired pneumonia in Europe: analysis of the REACH study. BMC Pulm Med. 2014;14:36
- Zhu X, et al. Co-infection with respiratory pathogens among COVID-2019 cases. Virus Res. 2020;285:198005
- ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562. กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- Jackson LA, et al. Vaccine. 2013;31:3577-3584
- Pollard AJ, et al. Nat Rev Immunol. 2009;9:213-220
- กรมควบคุมโรค, แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย, กุมภาพันธ์ 2564
ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik