พูดไม่ชัด พูดไม่ออก พูดช้า สัญญาณปัญหา ต้องรีบรักษาก่อนอันตราย !!
25 ตุลาคม 2023
หากตัวคุณเองหรือผู้ใหญ่ในบ้านมีอาการพูดช้า พูดไม่ชัด หรือพูดไม่ออก อย่าชะล่าใจเป็นอันขาด เพราะโรคหลอดเลือดสมองนั้น ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากอาการแบบนี้เรียกว่าภาวะที่ผู้ป่วยมีความบกพร่องทางการสื่อความ ซึ่งเกิดจากสมองส่วนที่ควบคุมการพูดการใช้ภาษาสูญเสียหน้าที่ไป โดยเกิดได้จาก 2 สาเหตุคือ เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้สมองขาดเลือด และส่งผลให้เซลล์สมองตาย หรือจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การได้รับอุบัติเหตุทางศีรษะ เนื้องอกในสมอง การติดเชื้อในสมอง เป็นต้น
4 อาการที่สังเกตได้ชัดว่า…อาจเป็นเพราะโรคหลอดเลือดสมอง
- ฟังและอ่านไม่เข้าใจ แต่พูดคล่อง เกิดจากรอยโรคที่บริเวณเวอร์นิเก (Wernicke’s) หรือตอบโต้ไม่ตรงเรื่องที่พูด ถามอย่างจะตอบอีกอย่าง เพราะผู้ป่วยไม่เข้าใจคำพูดของตัวเอง การอ่าน การเขียน ตกหล่น ถ้าเป็นมากจะอ่านหรือเขียนไม่ได้
- มีปัญหาด้านการพูด แต่ฟังอ่านเข้าใจ เกิดจากรอยโรคบริเวณโบรคา (Broca’s) ผู้ป่วยจะพูดไม่ชัด พูดผิดไวยากรณ์ นึกคำศัพท์นาน มักใช้คำง่ายๆ หากอาการรุนแรงจะพูดไม่ได้ แต่เขียนบอกได้ ทำตามคำสั่งได้ เช่น บอกให้ยกมือ ผู้ป่วยสามารถยกมือได้เพราะฟังรู้เรื่อง
- นึกคำศัพท์ไม่ออก แต่ฟังเข้าใจ พูดได้ถูกหลักไวยากรณ์ แต่มักใช้คำพูดอ้อมค้อม เนื่องจากนึกคำศัพท์ไม่ออก เช่น “สิ่งที่ใช้เขียน” แทนที่จะพูดว่า “ปากกา” ทำให้พูดช้าลง
- มีปัญหาทั้งด้านการพูดสื่อสารและรับรู้ภาษา ผู้ป่วยจะฟังไม่เข้าใจ พูดไม่ได้ แสดงออกไม่ได้ ทำตามคำบอกไม่ได้เพราะไม่เข้าใจ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีสมาธิ กระวนกระวาย เนื่องจากสื่อสารกับใครไม่ได้ เกิดจากความผิดปกติของ Broca’s และ Wernicke’s Areas
สัญญาณเตือนอาการโรคหลอดเลือดสมองตีบ
ถ้านอกจากอาการพูดผิดปกติ พูดไม่ชัด พูดช้า พูดไม่ออก แล้วยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการปากเบี้ยวมุมปากตก แขนขาชาและอ่อนแรงครึ่งซีก เวียนศีรษะ อาเจียน มีปัญหาของการมองเห็น นับเป็นสัญญาณอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง ญาติควรรีบพาไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วนเพื่อการรักษาที่ทันท่วงที
รักษาอย่างไร เมื่อมีอาการพูดไม่ชัด พูดช้า พูดไม่ออก?
- ถ้าเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเป็นสำคัญ หากผู้ป่วยมาถึงทันเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงนับแต่เริ่มเกิดอาการ แพทย์จะพิจารณาการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยไม่มีข้อห้ามของการให้ยา รวมทั้งการควบคุมความดันโลหิต ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการให้สารน้ำทางหลอดเลือด
- ถ้าเกิดจากเลือดออกในสมอง ถ้าหากก้อนเลือดที่คั่งในสมองมีขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แพทย์จะรักษาแบบประคับประคอง และสังเกตอาการ ถ้าหากก้อนเลือดขนาดใหญ่มากอาจพิจารณาผ่าตัด
แต่ถ้าเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น หากพบเนื้องอกในสมอง จะใช้วิธีผ่าตัดเนื้องอกออก หากพบว่ามีการติดเชื้อในสมอง แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งจะขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล
การรักษาและฝึกพูดใหม่ได้
เมื่อแพทย์รักษาที่สาเหตุของโรค และดูแลให้ผู้ป่วยพ้นจากระยะวิกฤตแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการบำบัดการพูด และการสื่อภาษาโดยทันที ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสพัฒนาทางการพูดและภาษาได้ดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการบำบัด หรือเริ่มการฝึกบำบัดช้า และการฝึกบำบัดควรจะต้องฝึกภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญในด้านการแก้ไขการพูด เพื่อให้มีทักษะทางภาษาที่ถูกต้อง โดยประเมินตามความบกพร่องของผู้ป่วยในแต่ละราย พร้อมทั้งแนะนำญาติให้รู้วิธีดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้องด้วย
ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว…ญาติช่วยได้อย่างไร
การที่ผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็วหรือไม่นั้น ญาติมีส่วนสำคัญ โดยหากญาติไม่เข้าใจในการดูแลที่ถูกต้อง นอกจากจะไม่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยหายแล้ว ยังอาจมีส่วนที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงไปได้อีก ดังนั้น ญาติสามารถช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นได้ ดังนี้
- ควรพยายามเข้าใจผู้ป่วย ไม่แสดงความรำคาญ ความกังวล โกรธต่อหน้าผู้ป่วย เพราะจะเพิ่มความกังวล เครียด ท้อแท้ให้แก่ผู้ป่วย
- เมื่อผู้ป่วยใช้เวลานึกคำพูด ควรรอให้ผู้ป่วยพูด ไม่ต้องช่วยพูด ช่วยนึก และควรแสดงความสนใจในสิ่งที่ผู้ป่วยพูด บางรายพูดไม่ชัดเจน ญาติต้องพยายามเดาบ้าง อย่าให้ผู้ป่วยอธิบายบ่อยจนเกินไป จะทำให้ไม่อยากพูด เพราะพูดแล้วคนอื่นฟังไม่เข้าใจ
- ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาฟังไม่เข้าใจ ญาติควรพูดช้าๆ ใช้คำง่ายๆ ในรายที่มีปัญหาการเขียน ให้ฝึกเขียนคำง่ายๆ ถ้าหากผู้ป่วยถนัดมือขวา และมีอาการอ่อนแรงของมือขวา ควรฝึกใช้มือซ้ายเขียนแทน