B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / โรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีทางรักษา แต่ป้องกันได้
โรคพิษสุนัขบ้า ไม่มีทางรักษา แต่ป้องกันได้
12 มีนาคม 2024

ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการของประเทศไทยจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมของทุกปีไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ส่งผลในมีโรคภัยระบาดในช่วงนี้ ยกตัวอย่างเช่น โรคพิษสุนัขบ้า หรือที่เรียกติดปากกันว่า โรคกลัวน้ำ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า (ไวรัสเรบีส์) ซึ่งสามารถติดต่อได้ทางน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเพียงแค่สัตว์ที่ติดเชื้อมาเลียบาดแผลของเราก็ทำให้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ายังสามารถเข้าได้ทางเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุจมูก ปาก แม้ว่าเยื่อเมือก จะไม่มีบาดแผลก็ตาม จึงเป็นอีกโรคที่มีความอันตรายสูง และได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อย

โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยมักเกิดจากถูกสุนัขกัด แต่ในความเป็นจริงแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น แมว ค้างคาว ลิง ชะนี กระรอก หนู หรือแม้แต่ วัว ควาย ก็สามารถติดเชื้อ โรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ หากผู้ที่ติดเชื้อได้รับวัคซีน Post-Exposure Prophylaxis (PEP) หลังจากถูกสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ กัด แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ตระหนักถึงอันตราย ปล่อยปละละเลย ไม่มาพบแพทย์ ไม่รับการฉีดวัคซีน จึงทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะไม่มีใครรอดชีวิตจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า หรือถ้ารอดชีวิตก็ต้องอยู่ในอาการโคม่าหลายอาทิตย์ และได้รับความเสียหายทางระบบประสาทอย่างรุนแรงซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีในการฟื้นฟู

ถ้าถูกสุนัขจรจัด หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงในบ้านกัด ข่วน หรือเลียแผล ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

  • ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ให้ลึกถึงก้นแผลเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
  • เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ เบตาดีน หรือ น้ำเกลือ ที่มีอยู่ที่บ้าน
  • รีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันบาดทะยัก โดยเฉพาะเมื่อสัตว์ที่กัดไม่มีเจ้าของหรือกัดแล้วหนี ไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สุนัขหรือสัตว์ที่กัดแสดงอาการหรือตายก่อน

หากถูกสุนัขกัดควรกักสุนัขเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน การสังเกตว่าสัตว์ตัวใดมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า สามารถดูว่าสัตว์ตัวนั้นมีอาการอาละวาด ดุร้าย หรือไม่ แต่สัตว์ที่ติดเชื้อบางตัวอาจดูเชื่อง เซื่องซึม ลิ้นห้อย และสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นอาการใด สัตว์ที่ติดเชื้อก็จะตายในที่สุด

อัตราเฉลี่ยในการได้รับเชื้อจนแสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้า

โดยประมาณ 30-90 วัน แต่บางรายอาจใช้เวลาสั้นกว่านั้น เพียงแค่ไม่ถึง 10 วัน หรือบางรายอาจใช้เวลานานเป็นปีก็มี เชื้อไวรัสเรบีส์จะแพร่กระจายไปตามเซลล์ประสาทไปยังสมองและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการที่แสดงออกจะมีหลากหลาย ทั้งไข้สูง กระสับกระส่าย กลืนลำบาก หายใจลำบาก กลัวน้ำ กลัวลม ชัก เกร็ง และโคม่าในที่สุด

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการฉีดวัคซีน

ปวดบริเวณที่ฉีดยาหรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งควรจะหายไปได้เองใน 24-48 ชั่วโมงคล้ายกับวัคซีนอื่นๆ ซึ่งเป็นอาการปกติของการฉีดวัคซีนทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วจะไม่พบอาการแพ้ตัวยารุนแรง วัคซีนควรฉีดให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ

จะหลีกเลี่ยงจากโรคพิษสุนัขบ้าอย่างไร

  • การป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
  • ไม่เข้าไปใกล้ หรือเล่นกับสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ
  • ไม่เข้าไปแหย่สัตว์หรือทำร้ายสัตว์เพื่อความสนุกสนาน และควรนำสุนัข หรือแมว ที่เลี้ยงไปรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี

อย่างไรก็ตามหากถูกสุนัข หรือสัตว์กัด โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ อย่าชะล่าใจ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและฉีดวัคซีน เพื่อให้ห่างไกลจากโรคพิษสุนัขบ้า โรคที่ไม่มีทางรักษาแต่สามารถป้องกันได้

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.