“มือถือ” มีข้อดีแต่ขณะเดียวกันหากหมกหมุ่นอยู่กับมันมากเกินไป อาจทำให้เกิดผลเสียในการดำเนินชีวิตประจำวัน และนำไปสู่การเกิดอาการโนโมโฟเบียได้ ซึ่งจากผลสำรวจทั่วโลกพบว่า คนที่เกิดอาการโนโมโฟเบีย ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นมากกว่าวัยทำงาน เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีเพื่อนมาก ชอบเล่นเกม ชอบเที่ยว ชอบทำกิจกรรมมากมาย จึงส่งข้อมูลผ่านมือถือถึงกันบ่อยๆ
ขณะนี้ประชาชนใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน จนเกิดอาการใหม่ทางสุขภาพจิตที่เรียกว่า "โนโมโฟเบีย (NOMOPHOBIA) " หรือขาดมือถือไม่ได้ จัดอยู่ในกลุ่มวิตกกังวลพบทั่วโลก ซึ่งอาจกระทบการทำงาน การเรียน ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น นิ้วล็อก สายตาเสื่อมเร็ว กล้ามเนื้อที่คอ บ่า ไหล่เกร็ง ปวดเมื่อย ทำให้หมอนรองกระดูกที่คอเสื่อมก่อนวัยอันควร อาจทำให้เส้นประสาทสันหลังที่ส่วนคอ ถูกกดทับ ชาที่แขน มือไม่มีแรง เดินโคลงเคลงเหมือนจะล้ม อาจเกิดโรคอ้วนได้ง่าย
ส่วนการป้องกันโรคนี้ จะต้องสร้างวินัยในการใช้มือถือ ควรใช้เท่าที่จำเป็น โดยหันไปทำกิจกรรมอื่นทดแทน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ถ้ารู้สึกเหงาให้หาเพื่อนคุยแทนการสนทนาผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์ หรืออาจตั้งกฎว่าจะไม่แตะต้องมือถือภายในเวลาที่กำหนด เช่น 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาการห่างมือถือให้มากขึ้น หรือกำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดมือถือ
โทรศัพท์มือถือเล่นได้ ใช้ได้ ไม่มีใครห้าม แต่เราควรมีขอบเขตให้พอดี เพียงเท่านี้ก็ทำให้เรา ห่างไกลจาก “NOMOPHOBIA” แล้ว
แหล่งที่มา : สาระน่ารู้สุขภาพจิต ประชาสัมพันธ์กรมสุขภาพจิต
ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik