B.Care Medical Center | โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
02 532 4444
ติดต่อสอบถาม 02 532 4444
หน้าแรก / บทความสุขภาพ / สิ่งต้องระวัง เมื่อผู้สูงอายุที่บ้านนอนติดเตียง
สิ่งต้องระวัง เมื่อผู้สูงอายุที่บ้านนอนติดเตียง
04 ธันวาคม 2023

อาการ “นอนติดเตียง” สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมจนต้องนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียวตลอดเวลา ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ บางรายอาจจะเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนได้ หรือ บางรายอาจไม่รู้สึกตัวเลย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยมีอาการนอนติดเตียง มักเกิดจากโรค อุบัติเหตุ หรือ จากการผ่าตัดใหญ่

สิ่งที่ตามมาจากภาวะการนอนติดเตียง เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และ ระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดแผลกดทับ การขาดอาหารอย่างรุนแรง เป็นต้น ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง จึงจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง เป้าหมายการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียงหลักๆ มี 3 ข้อ ได้แก่

  1. เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด ไม่มีแผลกดทับ ลดการติดเชื้อ ลดอาการข้อติด ไม่ขาดสารอาหาร มีความสะอาด การขับถ่ายถูกหลักอนามัย
  2. ลดภาระการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพราะ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในแต่ละครั้ง มีเรื่องค่าใช้จ่ายรวมถึงมีอุปสรรคในการเคลื่อนย้าย
  3. ลดภาระของผู้ดูแลให้น้อยที่สุด พยายามให้ผู้ป่วย หรือ ผู้สูงอายุร่วมมือกับผู้ดูแลในการขยับ หรือ ยกส่วนต่างๆ ของตัวผู้สูงอายุเอง

ข้อควรเฝ้าระวัง เมื่อผู้สูงอายุนอนติดเตียง

  1. แผลกดทับจากการนอนนิ่งๆ เป็นเวลานาน

สาเหตุ: การเกิดแผลกดทับ คือ การที่ผู้ป่วยนอนนานๆ บริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกต่างๆ เหล่านี้จะขาดเลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนัง จึงทำให้เซลล์บางตัวตายจนเป็นแผลไปได้ สามารถเกิดขึ้นได้หลายจุด เช่น ท้ายทอย สะบัก ศอก สะโพก กระดูกก้นกบ ส้นเท้า เป็นต้น ในระยะแรกอาจเกิดอาการลอกแค่ที่ผิว แต่พอนานวันเข้าก็อาจจะลอกไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ หรือ อาจจะถึงชั้นกระดูก และเมื่อร่างกายปราศจากผิวหนังซึ่งทำหน้าที่ปกคลุมเเล้ว โอกาสเกิดการติดเชื้อจึงมีมากขึ้น และ อาจรุนแรงถึงชีวิตได้

ารป้องกันและหลีกเลี่ยง: การเกิดแผลกดทับ ผู้ป่วยนอนติดเตียงที่ไม่สามารถพลิกตัวเองได้เองจึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแล ควรพลิกตัวผู้ป่วยทุกๆ 2 ชั่วโมง พร้อมเปลี่ยนท่าการนอนใหม่ เช่น นอนหงาย นอนตะแคงสลับกันไป หลีกเลี่ยงความยับย่นของเสื้อผ้า โดยประเมินจากสภาพผิวหนัง และ การทำความสะอาดผิวหนัง ไม่ควรให้เปียกชื้น ควรมีอุปกรณ์เสริมเพื่อลดแรงกดทับ เช่น ฟองน้ำ ที่นอนลม หมอนผ้านุ่มๆ เจลรองปุ่มกระดูก

 

 

 

 

  1. ภาวะการกลืนลำบาก

สาเหตุ: ของภาวะการกลืนลำบากที่พบได้บ่อย คือ ความผิดปกติทางช่องปาก และ คอหอยในผู้สูงอายุ มักเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และ ภาวะสมองเสื่อม ซึ่งภาวะกลืนลำบาก มีความเสี่ยงต่อการสำลักในขณะรับประทานอาหาร อาจทำให้ปอดเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ เนื่องจากอาหารหลุดเข้าไปที่หลอดลม และที่แย่ไปกว่านั้นเศษอาหารชิ้นใหญ่อาจเข้าไปอุดหลอดลมได้

  • ผู้ดูแลควรปรับเตียง 45-90 องศา จับลุก นั่งบนเตียง โดยใช้หมอนช่วยดันหลังให้ทรงตัว นอกจากนี้ ควรปรับอาหารให้เหมาะสม
  • ารปรับอาหาร (Dietary Modification) เป็นวิธีการรักษาที่มีความสำคัญ อาจเริ่มจากการให้อาหารข้น แต่ในปริมาณน้อยก่อน เช่น โจ๊กปั่น เพื่อดูว่าผู้ป่วยที่นอนติดเตียงสามารถกลืนได้หรือไม่ รวมถึงไม่รีบป้อนอาหารผู้ป่วย ควรก้มคอกลืนอาหารที่ป้อน ห้ามแหงนคอไปข้างหลัง และ ผู้ดูแลควรหยุดป้อนหากมีอาการสำลักทันที
  1. ด้านความสะอาด
  • การชำระล้างร่างกาย และ การขับถ่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ดูแลไม่ควรละเลย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปภายในร่างกาย เพราะ เป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น ผู้ดูแลควรเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยเป็นประจำทุก 2 – 4 สัปดาห์ และ ทำความสะอาดสายด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ ทุกครั้ง หากพบว่าปัสสาวะของผู้ป่วยมีสีขุ่น ข้น หรือ ปัสสาวะไม่ออก ควรรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หมั่นดูแลความสะอาดในการขับถ่าย เพื่อป้องกันการรับเชื้อต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย
  • การดูแลสุขภาพช่องปาก (Oral Hygiene) มีส่วนในการรักษาภาวะอาการกลืนลำบากซึ่งมักถูกมองข้าม การดูแลสุขภาพช่องปากจะช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสำลัก ทำได้โดยพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อลดอาการปากแห้ง ผู้ที่บ้วนปากไม่ได้ควรเช็ดทำความสะอาดช่องปาก และ ลิ้น หลังทานอาหารทุกมื้อ ดูแลเอาอาหารที่ค้างภายในช่องปากออกให้หมด รวมถึงเฝ้าระวังการเกิดเชื้อราในช่องปาก เป็นต้น
  1. ภาวะสุขภาพจิต

ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยติดเตียง นอกจากจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพจากความเสื่อมถอยของร่างกายแล้ว ปัญหาด้านสภาพจิตใจก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องเอาใจใส่ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีภาวะของโรคแตกต่างกัน แต่สิ่งที่คล้ายกัน คือ ความเบื่อหน่าย และ ความทุกข์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ดูแลสามารถหากิจกรรมต่างๆ มาทำร่วมกับผู้ป่วย เพื่อผ่อนคลาย และ ลดความเศร้าลง ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ หรือ ผู้ดูแลควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

บทความสุขภาพ
Copyright © 2020 Bcaremedicalcenter. All Rights Reserved.