โรคอุจจาระร่วง (Diarrhoeal Diseases) หมายถึง โรคที่ทำให้เกิดการถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะเหลวหรือเป็นน้ำเกินกว่า 3 ครั้ง/วัน หรือมีการถ่ายอุจจาระที่มีเลือดปนอย่างน้อย 1 ครั้ง/วัน และหากมีการถ่ายอุจจาระ ในลักษณะดังกล่าวนานเกิน 2 สัปดาห์ ถือว่าเป็นโรคอุจจาระร่วงแบบเรื้อรัง ทั้งนี้การถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง แต่อุจจาระเป็นปกติไม่ถือว่าเป็นโรคอุจจาระร่วง
สาเหตุโรคอุจจาระร่วง
สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิตและหนอนพยาธิในลำไส้ จากการรับประทานอาหาร และน้ำไม่สะอาด การไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนการเตรียมหรือปรุงอาหาร และภาชนะสกปรก มีเชื้อโรคปะปน อันตรายจากโรคอุจจาระร่วงทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ไปพร้อมกับการถ่ายอุจจาระจำนวนมาก จนอาจทำให้ช็อก หมดสติ และถึงแก่ความตายได้ โดยเฉพาะในเด็ก
โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการอยู่นาน 1-6 วัน หากอุจจาระร่วงจากอาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้องร่วมกับถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว โรคอุจจาระร่วงจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวจำนวน มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ในทารกและเด็กเล็ก ๆ อาจมีไข้ต่ำ เป็นหวัด มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายอุจจาระเหลวตามมา
วิธีปฏิบัติตัว
วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดอาการอุจจาระร่วงที่บ้าน รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่ายมากกว่าปกติ และดื่มเกลือแร่สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ โออาร์เอส น้ำแกงจืด หรือนำข้าวใส่เกลือ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ส่วนการดูแลเด็ก เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ให้ลูกกินนมแม่มากขึ้น เด็กที่กินนมผสม ให้ผสมนมตามปกติแล้วให้กินครึ่งหนึ่ง สลับกับสารละลาย น้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส ในปริมาณเท่ากับนมที่เคยกินตามปกติ ส่วนในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปให้อาหารเหลวที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ปลาต้ม เนื้อสัตว์ต้มเปื่อย เป็นต้น หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก หรือถ่ายเหลวหลายครั้งอาเจียนบ่อย รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้ มีไข้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ อ่อนเพลียมาก ตาลึกโหล่ ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ต้องพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที หลีกเลี่ยงการใช้ยาหยุดถ่าย เพราะยาหยุดถ่ายทำให้ลำไส้เก็บกับเชื้อโรคไว้นานขึ้น
การป้องกันตนเอง
การป้องกันตนเองจากโรคอุจจาระ หรือ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ทั้งหมดเป็นโรคที่ประชาชนสามารถป้องกันได้ด้วยการช่วยกันดูแลสุขอนามัย ในการรับประทานอาหาร การเก็บอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้งและหลังทำกิจกรรม รวมถึงเลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น เลือกนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ และได้รับการรับรองจาก จาก อย. ผักผลไม้ควรล้างด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก ๆ ให้สะอาดทั่วถึง ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำต้มสุก หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า 4 ชั่วโมง ควรเก็บไว้ในตู้เย็น ส่วนอาหารสำหรับทารกนั้นไม่ควรเก็บไว้ข้ามมื้อ หรือค้างคืน ก่อนที่จะนำอาหารมารับประทานควรอุ่นให้ร้อน ไม่นำอาหารที่ปรุงสุกแล้วมาปนกับอาหารดิบอีก เพราะอาหารที่สุกอาจปนเปื้อนเชื้อโรคได้ ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ และน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนการปรุงอาหาร ก่อนรับประทาน และโดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำและหลังจากสัมผัสจากสิ่งต่าง ๆ ดูแลความสะอาดของพื้นที่สำหรับเตรียมอาหาร ล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง กำจัดขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่น ๆ ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร ล้างภาชนะ และควรระวังเป็นพิเศษในการใช้น้ำเพื่อเตรียมอาหารเด็กทารก เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำ ในการป้องกันตนเองจากโรคอุจจาระหรือโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ก็จะปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วง
แหล่งที่มา : คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik